เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ร่วมกิจกรรมโครงการส่งเสริมการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์และแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้า U2T for BCG จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดจากการบูรณาการเชื่อมโยงระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์ คลีนิคเทคโนโลยี หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา (University Business Incubator : UBI) และมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยได้รับการต้อนรับจาก ดร.เอกราช ดีนาง และ ดร.วิบูล เป็นสุข รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี, ดร.นพรัตน์ ธรรมวงษา ผู้จัดการหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และคณะ ณ ศาลเจ้าปู่-ย่า กุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี
ดร.ดนุช กล่าวว่า กระทรวง อว. มีภารกิจที่จะช่วยเหลือประชาชนในทุกด้าน โดยมี กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) ที่ดูแลในเรื่อง อว.ส่วนหน้า อุทยานวิทยาศาสตร์ คลีนิคเทคโนโลยี หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา (University Business Incubator : UBI) และอื่น ๆ มุ่งหวังสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานของโครงการ U2T for BCG จึงเกิดการต่อเชื่อมหน่วยงานที่กล่าวมานี้บูรณาการร่วมกับโครงการ U2T for BCG งานในวันนี้ผู้ประกอบการจะได้พบกับตัวแทนของหน่วยงานเหล่านี้เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทาง แจ้งปัญหาที่พบในระหว่างการดำเนินการโครงการ เพื่อหาข้อแก้ไขร่วมกัน ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี พ.ศ. 2580 และหวังว่าประชาชนจะได้ใช้โครงสร้างของกระทรวง อว. ให้เป็นประโยชน์ ร่วมกันพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป
ด้าน นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2564 เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid - 19 เกิดการจ้างงานภายในตำบล พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วภายในตำบล รวมถึงมีการรวบรวม Thailand Community Big Data หรือข้อมูลชุมชนขนาดใหญ่ที่มีความสมบูรณ์ครบถ้วนในทุกพื้นที่ เป็นการเข้าใจ เข้าถึงในพื้นที่มากขึ้น นำไปสู่การสร้างนวัตกรรม ผลงานวิจัย ผลงานทางวิชาการมากมาย เชื่อมต่อกับหน่วยงานรัฐอีกกว่า 14 กระทรวง เพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกันให้มากที่สุด
ดร.เอกราช กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ได้ดำเนินการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในบทบาท อว. ส่วนหน้า ของจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดบึงกาฬ ในเขตพื้นที่บริการในจังหวัดหนองคายและจังหวัดหนองบัวลำภูผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน และในการจัดกิจกรรมการส่งเสริมการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์และแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้า U2T for BCG จังหวัดอุดรธานี เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่สะท้อนถึงผลของการพัฒนาท้องถิ่นของโครงการ U2T for BCG ครอบคลุมพื้นที่การบริการ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย จังหวัดหนองบัวลำภู และจังหวัดบึงกาฬ มีผลิตภัณฑ์มากกว่า 530 ผลิตภัณฑ์ ผ่านการใช้องค์ความรู้และนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้าไปพัฒนากำลังคนให้มีทักษะพื้นฐานต่อการทำงานในปัจจุบัน เป็นการต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ และเป็นแนวทางการส่งเสริมการตลาด เพื่อสร้างผู้ประกอบการรายใหม่จากโครงการ U2T for BCG นำไปสู่อาชีพและรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนในชุมชน ต่อไป
ภายในงานโครงการส่งเสริมการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์และแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้า U2T for BCG จังหวัดอุดรธานี นอกจากจะมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และร่วมพูดคุยถึงปัญหาที่เจอระหว่างการดำเนินการแล้ว ดร.ดนุช ได้ให้เกียรติมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ประกอบการในโครงการเพื่อเป็นกำลังใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และมีการแนะนำสินค้าผลิตภัณฑ์ภายใต้โครงการ U2T for BCG ผ่านทางระบบออนไลน์กับกิจกรรม U2T Live เปิด Shop เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการประชาสัมพันธ์สินค้า เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภครายใหม่ได้อย่างกว้างขวางต่อไป
ทำข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.