(21 กุมภาพันธ์ 2566) ที่อาคารอเนกประสงค์ โรงเรียนเหนือคลองประชาบำรุง จ.กระบี่ - ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงาน “คาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช.” โดยมี นายสุวรงค์ วงษ์ศิริ รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ นายธัชชเวชว์ จันทร์สุขศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ศึกษามัธยมศึกษาตรัง กระบี่ และนางวรรณดี เกตแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนเหนือคลองประชาบำรุง ร่วมเปิดงาน รวมทั้งคณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนเหนือคลองประชาบำรุง คณะผู้บริหารของโรงเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดกระบี่ คณะผู้บริหารของโรงเรียนประถมศึกษาและโรงเรียนเอกชนในอำเภอเหนือคลอง นายกเทศมนตรีอำเภอเหนือคลองและนายกองค์การบริหารส่งนตำบลเหนือคลองร่วมให้การต้อนรับ
ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ กล่าวว่า อว. พร้อมผลักดันกิจกรรมในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพราะเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่รัฐต้องผลักดันในด้านการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทย โดยผ่านการส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคต กิจกรรมคาราวานวิทยาศาสตร์ ของ อพวช. จึงเป็นแรงสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้เยาวชนเกิดการเปลี่ยนแปลง ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ เสริมประสบการณ์ความรู้ให้กับเยาวชน นำไปสู่การพัฒนาทักษะและกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์อย่างสร้างสรรค์ อันจะนำไปสู่การอยากเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น สามารถนำไปต่อยอดให้กับประเทศตนเองได้ต่อไปในอนาคต
สำหรับ "คาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช." จ.กระบี่ ในครั้งนี้ยังมีหน่วยงานในสังกัด อว. ร่วมโชว์นิทรรศการและกิจกรรม ได้แก่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำผลงานเรื่อง “ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกกลอกลายแบบ 3 มิติ สำหรับงานพิสูจน์หลักฐาน” และผลงานเรื่อง “ชุด Kit ตียางฟองน้ำ เพื่อการเรียนรู้ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราจากน้ำยางธรรมชาติ” สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(NIA) กับกิจกรรม STEAM4INNOVATOR 4 ขั้นตอนสร้างนวัตกร แผนพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมสำหรับเยาวชนไทยที่ต้องการก้าวไปเป็นนวัตกร อุทยานพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยลักษณ์ กับกิจกรรมดาราศาสตร์ และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กับกิจกรรมเล่นเกมให้ความรู้ด้านนิวเคลียร์และรังสี
นายสุวรงค์ วงษ์ศิริ รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า “อพวช. มีภารกิจหลักในการส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมให้กับเยาวชนและประชาชนทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่ง อพวช. ได้ตระหนักถึงโอกาสการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ และได้ดำเนินการจัดกิจกรรม “คาราวานวิทยาศตร์ อพวช.” ขึ้น เพื่อออกเดินทางสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ตั้งแต่ในปี 2548 เป็นเวลากว่า 18 ปี ซึ่งมีผู้เข้าชมแล้วกว่า 6.6 ล้านคน สำหรับในซีซั่นแรกปีนี้ อพวช. จัดเต็มความสนุกและความมหัศจรรย์ด้านวิทยาศาสตร์ โดยนำไปจัดแสดงกว่า 11 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดลพบุรี จังหวัดชัยนาท จังหวัดน่าน จังหวัดเชียงราย จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดสุดท้ายก่อนปิดเทอม มีเยาวชนร่วมชมงานกว่า 250,000 คน พร้อมเดินหน้าขยายโอกาสการเรียนรู้ในช่วงเปิดเทอมหน้าต่อไป ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าน้องๆ ผู้ปกครอง ครู และนักเรียนได้เรียนรู้และค้นพบกับความมหัศจรรย์ของวิทยาศาสตร์ พร้อมได้รับประสบการณ์จริงผ่านการทดลองเล่นและค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง และสามารถนำความรู้นำไปต่อยอดและปรับใช้ในชีวิตประจำวัน นำไปสู่ความเข้าใจและพัฒนาตนเองให้เติบโตเป็นคนคุณภาพของสังคมไทยต่อไป”
ทั้งนี้ คาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช. ไม่เพียงแค่ส่งเสริมการเรียนรู้ในประเทศเท่านั้น ยังมีการขยายโอกาสการเรียนรู้ไปสู่เยาวชนในอาเซียน โดยการนำคาราวานวิทยาศาสตร์ไปจัดแสดง ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เมื่อวันที่ 14-17 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา และเร็ว ๆ นี้ เตรียมพร้อมกระจายความรู้สู่เยาวชนอาเซียนต่อไป ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา ในวันที่ 26 -28 มีนาคม 2566 นี้ อีกด้วย สามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมฯ เพิ่มเติมได้ที่ Facebook : คาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช. และเว็บไซต์ www.nsm.or.th
เผยแพร่ข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.