วันที่ 16 มิ.ย. รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาวิชาการและมอบนโยบาย เรื่องการสร้างและพัฒนากำลังคนที่มีทักษะและสมรรถนะสูง ภายใต้โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ โดยมี นางสาววราภรณ์ รุ่งตระการ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนากำลังคน เป็นผู้กล่าวรายงาน ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ
รศ.ดร.พาสิทธิ์ กล่าวว่า โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ระยะที่หนึ่งมาจนใกล้จะสิ้นสุด และกำลังจะปรับเปลี่ยนและพัฒนาแนวคิดเพื่อจะเดินต่อไปในระยะที่สอง ทักษะต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการมาในระยะที่ผ่านมามีทั้งข้อดีและอุปสรรค จึงต้องมีการพูดคุยเพื่อทำให้ข้อเสนอบัณฑิตพันธุ์ใหม่ในระยะที่สอง ได้รับการพิจารณาเห็นชอบและเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไปได้ในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างสูง โดยเฉพาะหลังวิกฤติโควิด โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปในทุกมิติ การพัฒนาบุคลากรก็ต้องคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อจะได้สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันต่อไป
รศ.ดร.พาสิทธิ์ กล่าวต่อว่า กระทรวง อว. มีภารกิจสำคัญในการพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพ เพราะต้องการสร้างทักษะแรงงานในอนาคต ฉะนั้นสิ่งต่าง ๆ จึงต้องคำนึงถึงความต้องการของภาคอุตสาหกรรม "อยากจะย้ำว่า การพัฒนาบุคลากรของประเทศไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวง อว. เพียงอย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝั่ง demand side ที่จะต้องร่วมกันทำตั้งแต่เริ่มต้นเพราะ demand side มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ด้วยความต้องการที่จะผลิตบัณฑิตที่จบไปแล้วให้สามารถทำงานได้เลย จึงต้องมีการปรับเปลี่ยน หรือผลิตหลักสูตรที่เน้นด้านสมรรถนะมากขึ้น ต้องมีการพูดคุยกันในเรื่องการเรียนแบบ life long learning คือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะจากนี้ไปโลกจะต้องการบุคลากรที่มีการ Upskill/Reskill ฉะนั้นโครงการที่จะดำเนินการในระยะที่สองต้องทำสิ่งเหล่านี้ให้ครบถ้วน ที่สำคัญต้องพัฒนาคนและหลักสูตรเพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมหลักของประเทศ ตามนโยบายของไทยแลนด์ 4.0 ด้วย
ขณะที่ นางสาววราภรณ์ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน มีสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วมโครงการประมาณจำนวน 80 แห่ง ผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรม ได้จำนวนกว่า 46,016 คน จำแนกเป็น ระดับปริญญา Degree จำนวน 91 หลักสูตร (15,040 คน) จากสถาบันอุดมศึกษา 22 แห่ง และหลักสูตร Non-degree จำนวน 445 หลักสูตร (30,976 คน)จากสถาบันอุดมศึกษา 80 แห่ง และทาง สป.อว. ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นผู้ติดตามและประเมินผลโครงการ ซึ่งจากการติดตามประเมินผล พบว่า มีสถาบันอุดมศึกษาต้นแบบ ที่เมื่อดำเนินงานโครงการแล้ว มีแนวปฏิบัติที่ดีของการดำเนินงานและการพัฒนาหลักสูตร ทำให้เกิดผลกระทบหลายๆ ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสร้างและการพัฒนากำลังคน การออกแบบหลักสูตรและการจัดการศึกษาที่เน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ 2) ด้านการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ เช่น การเปิดโอกาสให้สถาบันการอุดมศึกษาได้ทดลองการจัดการเรียนรู้ในหลากหลายรูปแบบ 3) ด้านการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม ภาคผู้ใช้กำลังคนในภาคส่วนต่างๆ ในการสร้างกำลังคนอย่างเป็นรูปธรรม และ 4) การสร้างกำลังคนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.