วันที่ 23 ธันวาคม 2566 รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวง อว. ได้เข้าร่วมติดตามโครงการวิจัยของสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง (ธัชชา) และเปิดกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีพลังงานสะอาดเพื่อการผลิต"ข้าว"ครบวงจร ซึ่งส่วนหนึ่งในโครงการ “การนำเทคโนโลยีพลังงานสะอาดมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สู่เศรษฐกิจ BCG”ณ กลุ่มแปลงใหญ่ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตำบลบ้านต้อน อำเภอรัตนวาปี จังหวัดหนองคาย โดยมี ดร.เอกราช ดีนาง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง นายก อบต.บ้านต้อน อาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ และอุดรธานีให้การต้อนรับและเข้าร่วมงาน
ซึ่งในงานนี้ "รศ.ดร.พาสิทธิ์" รองปลัด อว.ได้กล่าวว่า ผมดีใจที่เห็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 4 แห่ง คือ มรภ.อุดรธานี มรภ.เลย มรภ.มหาสารคาม และมรภ.สกลนคร ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ที่ตระหนักและให้ความสำคัญของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงร่วมกันสร้างสรรค์ต่อยอดช่วยชาวบ้านและชุมชน โดยเฉพาะการเกษตร ในเรื่องข้าวที่เป็นของไทย ด้วยศักยภาพของพี่น้องเกษตรกร และมหาวิทยาลัยที่เรามีอยู่ ขอให้จับมือพัฒนาข้าวไทย ให้มีมูลค่าที่สูงขึ้นด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากข้าว เช่น ปลูกข้าวทำเป็นยา ทำเป็นเครื่องสำอาง นำนวัตกรรมมาขยับ Value Chain ให้ไปถึงตรงนั้นได้ แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย กระทรวง อว. มีกองทุน ววน.ที่สนับสนุนการวิจัย แต่เราจะไม่วิจัยไปเรื่อยๆ เราต้องทำให้พี่น้องชาวไทยกินดีอยู่ดีขึ้น ส่วนธัชชา เป็นหน่วยที่ตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียงเป็น 1 ใน 5 สถาบันภายใต้ธัชชา ที่เราต้องการผลักดันให้ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่โมเดลของการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับนานาชาติ เพราะในหลวง ร.9 ทรงทำไว้ให้กับคนไทยได้นำไปใช้ แต่เราจะทำให้ปรัชญานี้เป็น Center ของภูมิภาค ถือเป็น Soft Power ของไทยจริงๆ ที่จะให้ต่างชาติมาเรียนรู้เป็นต้นแบบ ไม่ใช่แค่ด้านการเกษตรเท่านั้น แต่ทางด้านเศรษฐกิจก็นำไปปรับใช้ได้เช่นกัน ฝากให้ธัชชาและสถาบันอุดมศึกษาสานต่อเรื่องนี้ ทำให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ให้ต่างชาติมาศึกษาดูงาน ซึ่งจะเป็นไปตามเป้าหมายของสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงที่ธัชชาได้จัดตั้งขึ้น
ด้าน "ดร.เอกราช" รองอธิการบดี มรภ.อุดรธานี กล่าวถึงโครงการวิจัยดังกล่าวว่า ได้รับงบประมาณจากสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงของธัชชา เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่ใช้สำหรับกระบวนการผลิตข้าวแบบครบวงจร เป็นทำงานร่วมกันของมหาวิทยาลัยเครือข่าย ช่วยปรับปรุงการผลิตข้าว ด้วยเทคโนโลยีที่สะอาดขึ้น ประหยัดขึ้น ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากภายนอก บนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่น เตาเผาแกลบ
ไร้ควัน (พลังงาน ชีวมวลจากแกลบ) เครื่องสูบน้ำผิวดินพลังงานแก๊สชีวภาพ (LPG) เครื่องสูบน้ำผิวดินพลังงานไฮบริด (กังหันลม – โซล่าเซลล์) เครื่องสูบน้ำใต้ดินพลังงาน
ไฮบริด (กังหันลม – โซล่าเซลล์) เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวนาแห้ง (พ่วงรถไถเดินตาม) นอกจากนั้นโครงการนี้ยังเป็นการทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อเรียนรู้ร่วมกันตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาเดิมที่มีอยู่ เริ่มจากกลุ่มบ้านต้อน จังหวัดหนองคาย และจะมีการขยายผลไปปรับใช้ยังพื้นที่ต่างๆ ต่อไปด้วย
เผยแพร่ข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.