13 มกราคม 2564 ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย: ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า สวทช. ได้เร่งพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในภาครัฐและเอกชนเพื่อช่วยชะลอการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง สำหรับการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ สวทช. ได้นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมจำนวน 4 ผลงาน
ซึ่งครอบคลุมทั้งในด้านการป้องกัน การลดการแพร่กระจายและฆ่าเชื้อโรค รวมทั้งการตรวจคัดกรองและการตรวจวินิจฉัยโรคเบื้องต้นส่งมอบให้แก่หน่วยงานที่มีความเสี่ยงและมีความต้องการใช้อุปกรณ์ต่างๆ 4 นวัตกรรมที่ส่งมอบไปแล้ว ได้แก่
1. เครื่องกำจัดเชื้อโรคด้วยวิธีการฉายแสงยูวีซี (Girm Zaber UV-C Sterilizer) ใช้ฆ่าเชื้อโรคในโรงพยาบาลหรือสถานที่เสี่ยงต่างๆ ช่วยลดการตกค้างของสารเคมี และการใช้น้ำยาพ่นฆ่าเชื้อ ผลงานวิจัยพัฒนาโดย ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สวทช. ทั้งนี้มีการส่งมอบเครื่อง Girm Zaber Station จำนวน 6 เครื่อง ให้แก่หน่วยงานต่างๆ ได้แก่ โรงพยาบาลระยอง จำนวน 2 เครื่อง ศูนย์สัตว์ทดลอง คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 1 เครื่อง และจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งอยู่ในเขตสุขภาพที่ 5 กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 3 เครื่อง (บริษัท บีเอ็มเอฟ อินโนเทค จำกัด ผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมสนับสนุนจำนวน 1 เครื่อง)
ทั้งนี้ เครื่องกำจัดเชื้อ Girm Zaber Station ทำงานโดยใช้รังสีอัลตราไวโอเลตที่มีความยาวคลื่นอยู่ในย่านความถี่ 254 นาโนเมตร ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 สามารถกำจัดเชื้อโรคได้ทั้งบนพื้นผิวเครื่องมือทางการแพทย์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงไวรัสในฝอยละอองในอากาศ สำหรับวิธีการใช้งานต้องใช้ในพื้นที่ปิด (ไม่มีสิ่งมีชีวิต เช่น คน สัตว์ พืช) ใช้เวลากำจัดเชื้อโรคเฉลี่ยจุดละ 5-15 นาที ช่วยลดเวลาทำความสะอาด ลดความเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงาน และลดค่าใช้จ่ายในการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ โดย Girm Zaber Station ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพจากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผ่านการทดสอบมาตรฐาน Lighting (มอก. 1955/EN55015) จากศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC)
2. ผลิตภัณฑ์น้ำยาฆ่าเชื้อเบนไซออน (Benzion) สารฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียจากซิงค์ไอออน ที่มาจากการต่อยอดเทคโนโลยีของศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. ภายใต้โครงการวิจัย “การพัฒนากระบวนการผลิตซิงค์ไอออนสำหรับยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย” โดยร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ซึ่งทีมวิจัยนำแร่ธาตุอาหารเสริมอย่างซิงก์ (Zinc) ที่โดยปกติมีสมบัติฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคได้ มาเพิ่มประสิทธิภาพให้ทำงานได้ดีขึ้นด้วยการเติมสารคีเลตและสารเสริมความคงตัว โดย บริษัท ยูนิซิล กรุ๊ป จำกัด ผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีและผลิตได้ส่งมอบผลิตภัณฑ์เบนไซออน จำนวน 64 แกลลอน ให้แก่ โรงพยาบาลระยอง จำนวน 10 แกลลอน จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งอยู่ในเขตสุขภาพที่ 5 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จำนวน 50 แกลลอน โรงพยาบาลแม่ระมาด จังหวัดตาก จำนวน 2 แกลลอน และโรงพยาบาลอุ้มผาง จังหวัดตาก จำนวน 2 แกลลอน
3. หน้ากากอนามัยประสิทธิภาพสูงเซฟีพลัส (Safie Plus) วิจัยและพัฒนาโดย ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. ผลิตโดยผู้ผลิตเอกชนที่ได้รับรองมาตรฐานการผลิตตามมาตรฐาน ISO 13485 ในการผลิตหน้ากากอนามัย
ปัจจุบัน สวทช. ได้ส่งมอบหน้ากากอนามัยเซฟีพลัส (Safie Plus) จำนวน 160,000 ชิ้น แก่หน่วยงานต่างๆ เพื่อใช้ป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งอยู่ในเขตสุขภาพที่ 5 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จำนวน 100,000 ชิ้น โรงพยาบาลแม่ระมาด จังหวัดตาก จำนวน 5,000 ชิ้น โรงพยาบาลบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 10,000 ชิ้น โรงพยาบาลสงขลา และโรงพยาบาลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จำนวน 25,000 ชิ้น โรงพยาบาลอุ้มผาง จังหวัดตาก จำนวน 5,000 ชิ้น โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี จำนวน 5,000 ชิ้น และโรงพยาบาลระยอง 10,000 ชิ้น
“ความพิเศษของหน้ากากอนามัยเซฟีพลัส คือ มีความหนา 4 ชั้น แผ่นชั้นกรองพัฒนาด้วยเทคโนโลยีการเคลือบสารไฮดรอกซีอาปาไทต์และไทเทเนียมบนเส้นใยธรรมชาติ ซึ่งมีคุณสมบัติในการดักจับฝุ่นละอองที่มีอนุภาคขนาดเล็กและจุลินทรีย์ จึงช่วยป้องกันฝุ่น PM2.5 และกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ได้ทั้งไวรัสและแบคทีเรียเมื่อถูกแสงแดด เซฟีพลัสผ่านการออกแบบให้มีความกระชับกับใบหน้า หายใจได้สะดวก ไม่อึดอัด ทำให้สวมใส่ได้เป็นเวลานาน ที่สำคัญหน้ากากอนามัยเซฟีพลัสผ่านการทดสอบประสิทธิภาพการกรองฝุ่น PM2.5 ได้ 99% ตามมาตรฐาน ASTM F2299 จาก TÜV SÜD ประเทศสิงคโปร์ และผ่านการทดสอบประสิทธิภาพการกรองไวรัส (Viral filtration efficiency: VFE) ได้ 99% จาก Nelson Laboratory สหรัฐอเมริกา รวมทั้งยังผ่านการทดสอบประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อไวรัส H1N1 (Influenza A Virus) โดยมหาวิทยาลัยมหิดล”
ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวต่อว่า ในด้านการตรวจวินิจฉัยโรค สวทช. ได้นำผลงานวิจัยชิ้นที่ 4.เครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลสำหรับถ่ายทรวงอก BodiiRay S (Digital Chest Radiography) ระบบเอกซเรย์ดิจิทัลที่พัฒนาขึ้นโดยทีมวิจัยระบบสร้างภาพทางการแพทย์ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) ซึ่งสามารถใช้ในการวินิจฉัยอาการปอดอักเสบ และผ่านมาตรฐานความปลอดภัยทางด้านไฟฟ้าและรังสีแล้ว ส่งมอบและติดตั้งที่โรงพยาบาลสนาม ในการดูแลของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 1 เครื่อง เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์นำไปใช้วินิจฉัยและคัดกรองโรคเบื้องต้นบริเวณปอด
สำหรับ เครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลสำหรับถ่ายทรวงอก ตัวเครื่องประกอบด้วยแหล่งกำเนิดเอกซเรย์ ฉากรับรังสีแบบดิจิทัล ซอฟต์แวร์บริหารจัดการและจัดเก็บภาพถ่ายเอกซเรย์ ซอฟต์แวร์สำหรับตั้งค่าและควบคุมการฉายเอกซเรย์ และซอฟต์แวร์ประมวลผลและแสดงภาพเอกซเรย์แบบดิจิทัล (RadiiView software) ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบจัดเก็บสื่อสารข้อมูลภาพทางการแพทย์ (PACS) ได้ สามารถแสดงผลภาพเอกซเรย์ได้ทันที ทำให้รองรับการใช้งานที่หลากหลาย และสามารถปรับได้ตามความต้องการของผู้ใช้ ที่สำคัญภาพมีความคมชัดด้วยซอฟต์แวร์ประมวลผลภาพของ BodiiRay ทำให้แพทย์ใช้ในการวินิจฉัยโรคได้ดียิ่งขึ้น
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.