กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เป็นเจ้าภาพระดับอาเซียนจัด Kick off , Workshop เสริมความเข้มแข็งให้เจ้าหน้าที่ด้านการตอบสนองเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีในภูมิภาคอาเซียนจาก 9 ประเทศ เตรียมพร้อมและตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีในอาเซียน ตั้งแต่วันที่ 21 – 23 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ ณ ปส.
รศ.ดร. พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวภายหลังการเปิดงานว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในฐานะบทบาทการเป็นผู้นำด้านการเฝ้าระวัง เตรียมความพร้อมและรับมือเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งตั้งแต่วันที่ 21 – 23 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดประชุมKick off และWorkshop ภายใต้โครงการ ASEANTOM-EC: Enhancing and Strengthening the Response to a Radiological or Nuclear Emergency in ASEAN ณ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โดยมีเจ้าหน้าที่ด้านการตอบสนองเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีในภูมิภาคอาเซียน จาก 9 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม บรูไน สิงค์โปร อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว และไทย จำนวน 30 คน เข้าร่วมและได้รับเกียรติจากนาย Daniel Hachez อัครราชทูตที่ปรึกษาจากคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยมาร่วมเปิดงานด้วย
โครงการความร่วมมือเชิงวิชาการ ASEANTOM-EC เป็นการดำเนินงานของเครือข่ายหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยจากพลังงานปรมาณูในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Network of Regulatory Bodies on Atomic Energy: ASEATOM) ร่วมกับคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission: EC) มีระยะเวลาดำเนินงานโครงการ 30 เดือน ซึ่ง EC โดย ENCO (Consortium) ได้เริ่มดำเนินงานไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับศักยภาพในการเฝ้าระวัง เตรียมความพร้อม และรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีในภูมิภาคอาเซียน ด้วยระบบสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support Systems: DSSs) ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลสำหรับการพยากรณ์การเคลื่อนที่ของสารกัมมันตรังสีในสิ่งแวดล้อม การปนเปื้อนทางรังสีในระบบนิเวศต่างๆ และระดับรังสีที่ประชาชนได้รับ ซึ่งในงานครั้งนี้ประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่
1) การประชุม Kick off Meeting & Technical Meeting เพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้โครงการฯ ให้สอดคล้องกับความต้องการและบริบทในปัจจุบันของประเทศในอาเซียน
2) การประชุมเชิงปฏิบัติการ Workshop on Using Decision Support System (DSS) Information for Making Decisions for a Nuclear or Radiological Emergency เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้ข้อมูลจาก DSSs สำหรับการตัดสินใจและดำเนินมาตรการที่เหมาะสมในการเตรียมความพร้อม และรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี เพื่อลดผลกระทบทางรังสีต่อประชาชน และสิ่งแวดล้อม
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มพัฒนาด้านความปลอดภัย กองพัฒนาระบบและมาตรฐานกำกับดูแลความปลอดภัย สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทรศัพท์ 0 2596 7600
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.