(1 สิงหาคม 2567) ณ ห้องโถง อาคารวิจัย สวทช. (โยธี) กรุงเทพฯ: สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) และ สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) แถลงข่าวการจัดงาน AI THAILAND FORUM 2024 ภายใต้แนวคิด “Sustainable Growth with AI ขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยปัญญาประดิษฐ์” ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (SCBX) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการพัฒนาและสนับสนุนการเติบโตของประเทศอย่างยั่งยืนทั้งในภาคเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 - 26 ตุลาคม 2567 ณ สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ โอกาสนี้ผู้บริหารหน่วยงานสำคัญที่ร่วมสนับสนุนการจัดงานฯ ร่วมแถลงข่าวและเสวนาในหัวข้อ “Sustainable Growth with AI: ขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยปัญญาประดิษฐ์”
ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ อุปนายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) กล่าวว่า การจัดงาน AI THAILAND FORUM 2023 ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างสูงจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนระบบนิเวศปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทย สำหรับสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศผ่าน “โครงการ Super AI Engineer” ซึ่งปัจจุบันดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 3,000 คน สามารถสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูงกว่า 600 คน โดยโครงการฯ ได้ออกแบบหลักสูตรที่เน้นการปฏิบัติจริงและเหมาะสมกับผู้เรียนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับเริ่มต้นจนถึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อีกทั้งยังมีหลักสูตรสำหรับประชาชนทั่วไปเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนากำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ในทุกระดับอย่างยั่งยืน
ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) กล่าวว่า AI Thailand Forum 2024 จะเป็นเวทีสำคัญในการแสวงหาโอกาสและความเป็นไปได้ในการสนับสนุนผู้ประกอบการด้านปัญญาประดิษฐ์ของไทย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนระบบนิเวศด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศโดยสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย มุ่งเน้นการเสริมสร้างความสามารถและศักยภาพให้กับผู้ประกอบการทุกระดับให้สามารถเติบโตและประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ผ่านโครงการต่าง ๆ พร้อมให้คำปรึกษา การฝึกอบรม ไปจนถึงการสนับสนุนแหล่งเงินทุนและการเข้าถึงเครือข่ายธุรกิจ อีกทั้งภายในงานได้จัดพิธีมอบรางวัลให้กับผู้ที่มีผลงานโดดเด่นด้านปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูความสำเร็จ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักพัฒนาทุกท่านในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป"
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.)กล่าวว่า ตามที่กระทรวง อว. ประกาศนโยบาย "อว. for AI" โดยใช้ศักยภาพด้าน AI ของกระทรวง อว. มาแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรและการประยุกต์ใช้ AI โดยดำเนินงานใน 3 เสาหลัก ได้แก่ 1. AI for Education: การใช้ AI ในการเรียนการสอนให้คนไทยมีศักยภาพสูงสุด และเร็วที่สุด 2.AI workforce development: การพัฒนาบุคลากรด้าน AI และการสร้างพื้นฐานด้าน AI ให้คนไทยในระบบการศึกษาและตลาดแรงงาน 3. AI innovation: การสนับสนุนนวัตกรรม AI สู่ตลาด การพัฒนามาตรฐานและทดสอบ รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดความแพร่หลายเพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทย สวทช. ในฐานะเลขานุการร่วมของคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้รับบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน “แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทยในระยะ 6 ปี (พ.ศ. 2565 - 2570) เพื่อสร้างและส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศเพื่อการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพ ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในทุกมิติ นําไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในกลไกสนับสนุนนโยบาย อว. For AI อีกด้วย ทั้งนี้จากบทบาทและวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศบนฐานของ AI ที่สอดรับกับแนวคิดการจัดงาน AI Thailand forum 2024 “Sustainable Growth with AI ขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยปัญญาประดิษฐ์” จึงเป็นโอกาสอันดีที่ กระทรวง อว. โดย สวทช. จะร่วมนำเสนอความก้าวหน้าการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ AI ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาล ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการพัฒนากำลังคน ด้านนวัตกรรมและการประยุกต์ใช้ เป็นต้น
คุณกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนานวัตกรรม (Head of SCBX R&D Innovation Lab)บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (SCBX) กล่าวว่า ประเทศไทยก้าวสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างมาก การสร้างระบบนิเวศ AI ที่แข็งแกร่งจึงเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชน ร่วมกันสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรม AI เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ โดย SCBX มุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบนิเวศ AI ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา โดยล่าสุดได้เปิดตัว “Typhoon” Large Language Model สำหรับภาษาไทย ให้ใช้งานได้ฟรี โดยเป็นโมเดลเวอร์ชันพื้นฐานที่สามารถนำไปปรับแต่งและใช้งานต่อยอดได้ตามต้องการ หรือการร่วมมือกับพันธมิตร และให้ทุนสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ ในการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนในวงกว้าง และการร่วมมือกับ AIAT, AIEAT และ สวทช. ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนระบบนิเวศ AI ของประเทศ SCBX เชื่อมั่นว่าการบูรณาการระบบนิเวศ AI จะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศไทยในอนาคต SCBX พร้อมที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI ที่มีความรับผิดชอบและยั่งยืน และหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ให้นักวิจัย Startup คนไทย และนักลงทุนสามารถสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งและยั่งยืนได้ในอนาคต
งาน AI Thailand Forum2024 นับเป็นงานใหญ่ประจำปีของวงการ AI ประเทศไทย จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 - 26 ตุลาคม 2567 ณ สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ ภายในงานพบกับการนำเสนอความก้าวหน้าแผนปฏิบัติการ AI ประเทศไทย หลากหลายหัวข้อสัมมนาจากผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ชั้นนำของประเทศไทยและนานาชาติ การเปิดตัวโปรเจกต์ที่น่าสนใจของ Startup ไทย พร้อมทั้งร่วมพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้าน AI จากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถดูรายละเอียดกิจกรรมได้ที่ https://www.aithailandforum.com/
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.