โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ พร้อมให้บริการสำหรับคนพิการที่ติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย (ระดับสีเขียว) ถูกเนรมิตขึ้นเพื่อรองรับคนพิการได้ถึง 224 เตียง ในวิกฤติการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ระลอกเมษายน และเปิดให้บริการแล้วเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564
เหตุผลที่ต้องมีโรงพยาบาลสนามเพื่อคนพิการนั้น หากใครมีญาติสนิทมิตรสหาย ที่เป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหว พิการทางการได้ยิน พิการทางสายตา หรือพิการด้านใดก็ตาม คนพิการเหล่านั้นมีความจำเป็นที่ต้องมีผู้ดูแลใกล้ชิดเป็นปกติในการใช้ชีวิตประจำวัน
แต่เมื่อสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เกิดขึ้นการมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการที่เป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 และความเหมาะสมของสถานที่ ที่มีความพร้อมสรรพด้วยนวัตกรรมต่างๆ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่คนพิการให้สามารถช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุดนั้น ถือว่ามีความจำเป็นไม่น้อยในภาวะที่ผู้ดูแลต้องเว้นระยะห่างจากพวกเขา
การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ (Sirindhorn Science Home Field Hospital for People with Disabilities (PWD) ได้บูรณาการความเชี่ยวชาญของ 3 กระทรวง คือ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ตั้งใจผนึกความเชี่ยวชาญกันร่วมสร้างโอกาสและคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนพิการไปพร้อมๆ กับช่วยประเทศหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลอนุมัติให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดสร้างขึ้น ทั้งนี้เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ในขณะนั้น) โดย สวทช. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อ “บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร” (Sirindhorn Science Home: SSH) เพื่อดำเนินโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร (Permanent Science Camp) เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ฝึกทักษะและพัฒนาศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับเด็กและเยาวชนผู้มีความสนใจและมีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีพื้นที่สำหรับการจัดกิจกรรม มีห้องพักสำหรับพักค้างแรม และพื้นที่นันทนาการ ซึ่งมีความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวกในระดับที่คนพิการสามารถใช้งานได้ด้วยตนเอง
ทั้งนี้บทบาทหน้าที่ของ 3 กระทรวงในโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ ได้บูรณาการบทบาทหน้าที่เพื่อรองรับการดูแลทั้งคนพิการและครอบครัว ด้วยระบบการให้บริการที่อาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกและลดการสัมผัสระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ กับผู้ป่วยโควิด-19 โดยมีภารกิจสำคัญที่ดำเนินการอย่างเข้มแข็ง ดังนี้ 1.ด้านอาคารสถานที่และการจัดสภาพแวดล้อม และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ สนับสนุนโดย กระทรวง อว. สวทช. เพื่อดำเนินภารกิจการจัดการ ด้านระบบเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกในระหว่างรักษาตัวภายในโรงพยาบาลสนาม ได้แก่
อุปกรณ์ป้องกันและลดการแพร่กระจายเชื้อโรค ประกอบด้วย หน้ากากอนามัยเซฟีพลัส (Safie Plus) หน้ากากอนามัย N95 n-Breeze หมวกควบคุมแรงดันลบสำหรับผู้ติดเชื้อ และหมวกควบคุมแรงดันบวกสำหรับบุคลากร (nSPHERE Pressurized Helmet)
เทคโนโลยี ลดการแพร่กระจายเชื้อโรค ประกอบด้วย ระบบลิฟต์ไร้สัมผัส (Magik Tuch) เปลความดันลบเคลื่อนย้ายผู้ป่วย (PETE เปลปกป้อง) เครื่องฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงยูวีซี (Girm Zaber UV-C Sterilzer)
และเทคโนโลยีการตรวจคัดกรอง วินิจฉัยโรคและอำนวยความสะดวก ประกอบด้วย ระบบตรวจสุขภาพผู้ป่วยทางไกล สำหรับโรงพยาบาลสนาม (A-MED TeleHealth) เครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลเคลื่อนที่ได้ (BodiiRay M) ระบบ TTRS บริการล่ามทางไกลสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน และรถส่งของบังคับทางไกล ‘อารี’ และ ‘ปิ่นโต 2’ ซึ่ง อันหลังนี้ได้รับการสนับสนุนจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ เพื่อใช้สำหรับส่งของให้ผู้ป่วยโควิด-19
2.ด้านการแพทย์ อุปกรณ์การตรวจรักษา/เวชภัณฑ์ และหลักสูตรการอบรมเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 สนับสนุนโดย สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในการดำเนินภารกิจหลักในการรักษาอาการป่วยบนฐานของการเชื่อมประสานระบบเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตที่สอดคล้องกับความต้องการของคนพิการ และ 3.ภารกิจด้านสวัสดิการสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ และสิ่งของอุปโภคบริโภค สนับสนุนโดย กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวง พม. ทำหน้าที่ในการประสาน ส่งต่อ และให้ความช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการในระหว่างที่คนพิการและครอบครัวพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลสนาม รวมถึงวางแผนการให้ความช่วยเหลือและติดตามภายหลังคนพิการและครอบครัวหายจากอาการป่วยและปลอดเชื้อโรคโควิด-19 เดินทางกลับสู่ครอบครัวและชุมชน
โดยในระหว่างที่คนพิการที่ติดโควิด-19 อยู่ในโรงพยาบาลสนามฯ แห่งนี้ ทางกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ได้เตรียมความพร้อมด้านสวัสดิการสังคม เช่น เครื่องอุปโภค บริโภค เครื่องใช้ส่วนตัวฯลฯ และได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดบุคลากรที่ผ่านการอบรมเกี่ยวกับการรับ-ส่ง คนพิการที่ติดโรคโควิด-19 มาร่วมปฏิบัติงานด้วย
ทั้งนี้สามารถประสานแจ้งข้อมูลเบื้องต้นได้ที่สายด่วน 1668 สายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 และสายด่วนคนพิการ 1479 เพื่อประสานส่งต่อคนพิการ ครอบครัว และผู้ดูแลเพื่อเข้ารับบริการสู่โรงพยาบาลสนามฯ
แม้วันนี้ภายในบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร เราอาจไม่เห็นภาพคุ้นตาของเหล่าเยาวชนในห้องเลคเชอร์ที่ยกมือถามวิทยากรนักวิจัยอย่างสนใจใฝ่รู้ หรือจะเป็นภาพเด็กๆ กำลังจดจ่อส่องกล้องจุลทรรศน์อย่างตั้งใจเพื่อทดลองทางวิทยาศาสตร์
ทว่าศูนย์กลางการเรียนรู้แห่งนี้ ได้กลับมาทำหน้าที่เป็นสถานที่พำนักฟักฟื้นเพียงชั่วคราวจากโรคระบาดครั้งใหญ่ให้แก่คนพิการได้อย่างสมบูรณ์แบบ ที่ก่อเกิดจากความมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันของหลายหน่วยงาน และผู้ให้การช่วยเหลือบริจาคสิ่งของต่างๆ แสดงถึงความรักสามัคคีโดยไม่ทอดทิ้งกัน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.