นวนุรักษ์ (NAVANURAK) คือ แพลตฟอร์มเพื่อการจัดเก็บข้อมูลทางวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อให้ชุมชนหรือหน่วยงานสามารถจัดเก็บข้อมูลได้ด้วยตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยอนุรักษ์ให้ข้อมูลวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพท้องถิ่น ยังคงสามารถคงอยู่ได้อย่างยั่งยืนและเข้าถึงได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพื่อคงไว้ซึ่งองค์ความรู้ของท้องถิ่น ไม่สูญหายไปตามกาลเวลา
การผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่กับข้อมูลและเรื่องราวด้านวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของไทย หากถ่ายทอดผ่านมุมมองและความคิดสร้างสรรค์โดยเยาวชนคนรุ่นใหม่แล้ว ก็จะช่วยกระตุ้นให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้และกระตุ้นให้เยาวชนหันมาสนใจที่จะร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรมและซึมซับเอกลักษณ์ความเป็นไทย จึงเป็นที่มาของการจัดการประกวดเรื่องเล่า “NAVANURAK Story Creator Challenge 2020” ที่ดำเนินงานโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อให้เกิดเป็นกิจกรรมส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในการเล่าเรื่องผ่านสื่อดิจิทัล โดยนำเสนอเรื่องราว เรื่องเล่า ความประทับใจในความงดงามของวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ภูมิปัญญา และแหล่งท่องเที่ยวในมุมมองใหม่ ๆ สะท้อนความรู้สึกผ่านคลิปวิดีโอแนวสร้างสรรค์ เพื่อเชิญชวนและดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวแบบยั่งยืน และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย โดยสอดแทรกการนำเสนอระบบนวนุรักษ์ของเนคเทค อันจะทำให้เกิดความเข้าใจในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในการจัดเก็บและนำเสนอข้อมูลวัฒนธรรม ะโดยจัดเตรียมพื้นที่แข่งขันการจัดทำคลิปวิดีโอเชิงสร้างสรรค์ ณ “สถาบันไทยเบิ้งโคกสลุงเพื่อการพัฒนา” ต.โคกสลุง อ.พัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เพื่อให้กลุ่มเยาวชนผลิตคลิปวิดีโอนำเสนอภาพและเรื่องราวของชุมชนในพื้นที่ดังกล่าว ผ่าน 6 ฐานการเรียนรู้ ประกอบด้วย ทอผ้า, ทอเสื่อ, ของเล่นจากใบตาล, ทำพวงมะโหตร นายสุข สุขสลุง, ทำพริกตะเกลือ นายวิเชียร ยอดสลุงและขนมเบื้องไทยเบิ้ง
ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดเรื่องเล่า “NAVANURAK Story Creator Challenge 2020” คือ ผลงาน “ขอบคุณ ณ โคกสลุง” โดยทีม “BLACK LIGHT” จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้
นายภัทร์นิธิ กาใจ (น้องอาร์ท) นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ตัวแทนจากทีม BLACK LIGHT เล่าให้ฟังว่า ตนและเพื่อนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับแพลตฟอร์มนวนุรักษ์นี้มาบ้างแล้ว ในตอนนั้นเรียนอยู่ประมาณปี 2 ถือเป็นรุ่นแรกที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้จัดการเรียนการสอนวิชานี้ขึ้นมา โดยมี นักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เป็นอาจารย์ผู้สอน ซึ่งอาจทำให้เป็นข้อดีเมื่อได้มาร่วมโครงการประกวดฯ ครั้งนี้ สามารถนำความรู้ความเข้าใจเดิมที่เคยได้เรียนในตอนนั้นมาประยุกต์ใช้ทำโครงการได้ง่ายขึ้น
น้องอาร์ท เล่าต่อว่า หลังจากที่สมัครเข้าร่วมโครงการและได้อ่านรายละเอียด กฎเกณฑ์ กติกาแล้ว ซึ่งประกอบด้วยการส่งคลิปวิดีโอเพื่อใช้สำหรับเป็น Presentation แนะนำตัวของทีม เล่าถึงที่มาของการรวมตัวเป็นทีม backlight ซึ่งทีมเรามี 4 คน แต่ละคนมีความสามารถเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน เช่น เป็นช่างภาพ คนทำตัดต่อ คิด เนื้อหา (content) หลังจากนั้น เมื่อประกาศผลการคัดเลือกทีมเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อลงพื้นที่และทำ workshop และเข้าร่วมแข่งขัน
ซึ่งช่วงเวลานั้นทำให้ตนและเพื่อนได้เห็นถึงการทำงานในรูปแบบต่างๆของแต่ละทีม ทั้งในเรื่องการวางแผนการทำงาน กระบวนการคิด และการร่วมมือกันทำงานเป็นทีม และได้มองกลับมาในส่วนของทีมเราซึ่งเป็นทีมจากทางภาคเหนือเพียงทีมเดียวที่เข้าร่วมแข่งขัน และไม่มีผลงานที่เคยส่งประกวดมาก่อน เลยยอมรับว่าทำให้ทีมมีความประหม่าเพราะได้เห็นเพื่อน ๆ จากมหาวิทยาลัยอื่น ๆ แต่สุดท้ายพวกเราก็ตั้งใจทำให้เต็มที่สุดความสามารถจนประสบความสำเร็จในการแข่งขันในครั้งนี้ และอีกเรื่องที่ประทับใจ คือ เมื่อทีมเราได้ลงพื้นที่ สถาบันไทยเบิ้งโคกสลุงเพื่อการพัฒนา พวกเราก็ได้รับการต้อนรับจากชุมชนอย่างอบอุ่น และมีไกด์ชุมชนพาไปเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็น unseen ทำให้ได้รู้จักสถานที่ใหม่ๆเพิ่มขึ้น ซึ่งตนและเพื่อนไม่เคยมีโอกาสได้เห็นหรือสัมผัสอะไรแบบนี้มาก่อน
ส่วนหัวข้อที่ทีมเราได้รับคือการนำเสนอเรื่อง “ขนมเบื้องไทยเบิ้ง” ก่อนหน้านี้คิดว่าเป็นขนมเบื้องทั่วไป ที่เห็นขายกันตามงานเทศกาลต่าง ๆ และตามตลาดนัดทั่วไป แต่ในความเป็นจริง เมื่อได้เรียนรู้ กลับกลายเป็นขนมเบื้องในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกรรมวิธีการทำขนมเบื้อง ที่มา หรือแม้แต่รายละเอียดที่สามารถทำให้เล่าเรื่องได้มากมาย ยกตัวอย่าง “คุณป้าที่ทำขนมเบื้องเล่าให้ฟังเป็นเกร็ดความรู้ว่า เมื่อก่อนนี้การทำขนมเบื้องจะไม่ใช้น้ำมัน จะใช้ใบมะเขือแทน เพราะว่าคนสมัยก่อนไม่ซื้อน้ำมันปรุงอาหาร และเป็นขนมที่ทำกินได้ทุกบ้าน เพราะใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในครัวเรือนอยู่แล้ว เช่น ข้าวสาร เครื่องโม่แป้ง ก็สามารถทำได้แล้ว” ทำให้เห็นวิถีชีวิตและอาหารของคนสมัยก่อน เป็นการใช้วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นและกรรมวิธีแบบครัวเรือนในการประกอบอาหาร ซึ่งมีต้นทุนไม่สูง ทั้งหมดนี้ทีมเราต้องนำเสนอในรูปแบบสื่อ VDO มีความยาว 5 นาที และได้ปรึกษากับทีมว่าควรจะตั้งชื่อผลงานอย่างไรให้ครอบคลุม สามารถสื่อถึงเรื่องราวที่จะนำเสนอได้ สรุปความเห็นตรงกันได้ชื่อว่า “ขอบคุณนะโคกสลุง” เพื่อเป็นสิ่งที่แทนคำขอบคุณ รวมถึงความประทับที่อยากบอกให้คนที่ได้รับชมคลิปวิดีโอนี้
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)สวทช. กล่าวว่า “นวนุรักษ์แพลตฟอร์ม หรือ แพลตฟอร์มคลังข้อมูลวัฒนธรรมเพื่อการอนุรักษ์มรดกไทย ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการคลังข้อมูลวัฒนธรรมดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูลอย่างมีระบบ โดยข้อมูลวัฒนธรรมที่จัดเก็บต้องสนับสนุนบริการข้อมูลในลักษณะโครงสร้างแบบเปิด “Open Data” เพื่อให้เกิดการแบ่งปันข้อมูล นำไปต่อยอดสร้างประโยชน์ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ เชื่อมโยงกับทุนทางวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อรังสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการรูปแบบใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง สามารถเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวผ่านระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ เช่น การท่องเที่ยวเชิงอาหาร การท่องเที่ยวเชิงศิลปะและวัฒนธรรม เป็นต้น ซึ่งเนคเทคสวทช. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการ เพื่อช่วยชุมชนพัฒนาสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน”
แพลตฟอร์ม NAVANURAK ผู้สนใจสามารถติดตามชมผลงานชนะเลิศการประกวดเรื่องเล่า “NAVANURAK Story Creator Challenge 2020” ของทีม backlight และผลงานจากเยาวชนทีมอื่นๆ พร้อมค้นหาข้อมูลทางวัฒนธรรมจากแหล่งต่างๆ ที่น่าสนใจจากทั่วประเทศได้ที่เว็บไซต์ http://www.navanurak.in.th
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.