เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดการเสวนา “พิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติกับการพัฒนาประเทศ” จัดโดย สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ สำนักงานวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) โดยมี ดร.พัชรินรุจา จันทโรนานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงฯ และผู้บริหารกระทรวง อว. เข้าร่วมงาน ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า นับเป็นโอกาสอันดีที่ รมว.อว. มีวิสัยทัศน์ เล็งเห็นความสำคัญของงานศิลปกรรมต่อการพัฒนาประเทศจนก่อให้เกิดวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะนำผลงานศิลปะของไทยอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้เป็นที่รู้จักในสังคมโลก อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางทางวิชาการด้านศิลปะทุกแขนง ศ.ศิลป์ พีระศรี ผู้ที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการริเริ่มสร้างวงการศิลปะในประเทศไทย ซึ่งมีอุดมการณ์ที่อยากเห็นประเทศไทยพัฒนาทางด้านศิลปะให้ไปสู่ทิศทางที่ก้าวหน้าและทัดเทียมนานาอารยประเทศ โดยได้ตั้งหมุดหมายสำคัญไว้ 5 ประการได้แก่ การสร้างคนที่รักในศิลปะ การสร้างสถาบันทางด้านศิลปกรรมของประเทศ การส่งเสริมคนทำงานศิลปะโดยริเริ่มให้มีการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ การสร้างสถาบันทางด้านดนตรี และการสร้างสถานที่สำหรับแสดงงานศิลปกรรมหรือพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรม วันนี้เป็นการเริ่มต้นของหมุดหมายตัวสุดท้ายคือสถาบันศิลปกรรม อันจะเป็นหมุดหมายที่สำคัญทางด้านศิลปะในประเทศไทย เป็นส่วนสำคัญที่จะเติมเต็มให้ศิลปะในประเทศสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติมีความสำคัญต่อประเทศชาติในหลายประการ โดยจะเป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานศิลปะที่มีความหลากหลายทั้งผลงานชั้นครูจากศิลปินแห่งชาติ งานฝีมือจากช่างครูหรือศิลปินในภูมิภาคต่างๆ และผลงานร่วมสมัยจากศิลปินรุ่นใหม่ อีกทั้งสถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาตินี้จะเป็นศูนย์กลางวิชาการในด้านศิลปะของประเทศและนานาชาติ เป็นสถาบันวิจัยด้านศิลปะที่มีความเข้มข้นทางวิชาการและการวิจัย รวมทั้งเป็นแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีพ สำหรับทุกเพศทุกวัย และสุดท้ายจะเป็นจุดหมายสำคัญสำหรับคนไทยและชาวต่างประเทศได้เข้ามาสัมผัสศิลปะชั้นเลิศที่รวบรวมในสถาบันแห่งนี้ และพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไปในอนาคต สถาบันจะทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมประสานสถาบันอุดมศึกษาทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตลอดจนประชาชนทั่วไปและศิลปินท้องถิ่นในสาขาอาชีพด้านศิลปกรรม ให้ต่อยอดองค์ความรู้และทักษะสู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ผู้ที่จะเข้ามาเยี่ยมชมผลงานของสถาบัน และได้รับแรงบันดาลใจให้ผลิตผลงานศิลปะสืบสานอย่างยั่งยืนต่อไป การเสวนาครั้งนี้ได้รับความกรุณาจากนักวิชาการทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้ามาวางรากฐานสำคัญ เพื่อจะนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ด้านศิลปกรรมและการบริหารพิพิธภัณฑ์ให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลตามวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย
ดร.เอนก กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติเป็น 1 ใน 5 สถาบันของธัชชา ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นภายในกระทรวง อว. เกือบหนึ่งปีมาแล้ว เพื่อดำเนินการศึกษาวิจัย พัฒนาสร้างสรรค์ต่อยอดความรู้ทักษะเชิงวิชาการ เชิงสุนทรียะด้านศิลปกรรมของไทย โดยจะครอบคลุมจนถึงวัฒนธรรมของกรุงรัตนโกสินทร์รวมไปถึงศิลปะร่วมสมัยของเอเชียอาคเนย์ ภูมิภาคเอเชีย และโลก รวมทั้งการใช้งานศิลปะเป็นเครื่องมือในการศึกษา ตนมีความตั้งใจว่าภายใน 5-10 ปีนี้ จะทำให้ศิลปะของไทยเป็นที่รับรู้และซึมซับของนานาชาติ ต้องสร้างเอกลักษณ์ให้กับศิลปกรรมไทย ทำให้โลกได้ตระหนักถึงเอกลักษณ์ของศิลปะของไทย ด้วยเหตุนี้ตนจึงสนับสนุนและเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดเสวนาในวันนี้จะทำให้คนไทยได้เห็นทุนทางศิลปกรรมที่จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศมีอย่างมหาศาล เราจะต้องคิดว่าจะพัฒนาประเทศไทยด้วยเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างไร
เราจะต้องเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยเศรษฐกิจฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ก็ไม่ลืมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ด้วย เราต้องเดินสองขา ซึ่งเป็นสองขาที่มีความแข็งแกร่งมาตลอด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยกระดับทฤษฎี หลักการ การปฏิบัติของเราในเรื่องศิลปกรรมให้สูงขึ้น อีกทั้งกระทรวง อว. นั้นมีสรรพวิทยาการที่จะทำให้ทัชชามีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น สิ่งที่จะได้จากการเสวนาในวันนี้ก็คือ เราจะได้รู้ว่าศิลปกรรมเกี่ยวข้องอย่างไรกับการพัฒนาประเทศ สามารถนำไปพัฒนาประเทศได้อย่างไร สิ่งนี้คือสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับการทำวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทยต่อไป
การเสวนาวิชาการ “พิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติกับการพัฒนาประเทศ” นี้ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านศิลปะที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับทั้งไทยและต่างประเทศ ได้เข้าร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ทางด้านพิพิธภัณฑ์และศิลปกรรมศาสตร์ อาทิ ศ. (เกียรติคุณ) ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ, ศ.สุธี คุณาวิชยานนท์, รศ.ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล, Professor Emeritus Peter Pilgrim และ Chi-Yi Chang President Taiwan Design Research Institute
เขียนข่าว : วีนัส แก้วประเสริฐ
ถ่ายภาพ : ปวีณ แย้มควร
ถ่ายภาพวีดีโอ : กรภัทร์ จิตต์จำนงค์ / สกล นุ่นงาม / สุเมธ บุญเอื้อ
เผยแพร่ข่าว : ปราณี ชื่นอารมณ์
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2610 5241-47 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.