“เอนก” มั่นใจไทยก้าวสู่ประเทศนวัตกรรม ที่กำลังจะดีดตัวเองออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศรายได้สูง
ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม เพราะผ่านวิกฤตต่างๆ มาได้ระลอกแล้วระลอกเล่า
ล่าสุด สามารถพัฒนานวัตกรรมสู้โควิดได้ ทั้งชุด PPE หน้ากาก PAPR ห้องไอซียูความดันลบ รวมทั้งการผลิตวัคซีนจากฝีมือคนไทยกว่า 4 ชนิด
ด้าน NIA จัดงานสตาร์ทอัพและอินโนเวชั่นไทยแลนด์ เอ็กซ์โป 2021 เน้นถ่ายทอดเทคโนโลยีเชิงลึกให้ผู้ประกอบการ
เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวเปิดงานสตาร์ทอัพและอินโนเวชั่น ไทยแลนด์ เอ็กซ์โป 2021 (STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2021) หรือ SITE 2021 จัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ว่า ปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับการจัดอันดับความสามารถในด้านนวัตกรรม โดย The Global Innovation Index 2020 เป็นอันดับที่ 43 ของโลก และมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในด้านนวัตกรรม เป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งการที่นวัตกรรมจะเดินหน้าได้ จะต้องขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของภาคเอกชนด้วย นั่นถือเป็นข่าวดี และจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ช่วงปีเศษที่ผ่านมาได้ให้สัญญาณว่า ประเทศไทยกำลังจะดีดตัวเองออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศรายได้สูงด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม เราสามารถสร้างนวัตกรรมเพื่อช่วยสู้วิกฤตโควิดที่ทำได้สำเร็จแล้วมากมาย เช่น ชุด PPE หน้ากาก PAPR และห้องไอซียูความดันลบ ซึ่งมีราคาถูกเป็นหนึ่งในสิบของราคาต่างประเทศ นอกจากนั้น ยังมีการผลิตวัคซีนไฮเทคจากฝีมือคนไทยกว่า 4 ชนิด ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการทดลองขั้นสุดท้ายในคน ซึ่งมั่นใจว่าในปี 2565 จะสามารถผลิตออกมาให้คนไทยได้ใช้อย่างแน่นอน
“ผมอยากให้คนไทยเชื่อมั่นว่า ประเทศของเราเป็นประเทศแห่งนวัตกรรมได้ นอกจากผลงานในปัจจุบันแล้ว ประเทศไทยยังมีที่ตั้งที่เป็นเลิศ เป็นดินแดนที่มีนวัตกรรมมาช้านาน เรารับอารยธรรมจากจีนและอินเดีย นำมาผสมผสานและต่อยอดจากของดีแต่เดิมของเราจนกลายเป็นนวัตกรรมของไทย รวมทั้งเรามีคนที่เป็นเลิศ เป็นนักผสมผสาน นักสร้างสรรค์ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง นวัตกรรมของไทยในวันนี้จึงมีรากฐานความเป็นมาที่ยาวนานมาก เราต้องมั่นใจในตัวเอง เชื่อว่าเราเป็นนวัตกรได้ เราเป็นเลิศทางนวัตกรรมได้ เราสามารถผ่านวิกฤตต่างๆ มาได้ด้วยตนเอง และเราจะก้าวไปสู่การเป็น 1 ใน 30 ประเทศแห่งนวัตกรรมของโลกต่อไป” ดร.เอนก กล่าว
ด้าน ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผอ. NIA กล่าวว่า ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤตและการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิต สังคม และเศรษฐกิจ แต่ในวิกฤตนั้นทำให้มองเห็นความท้าทายที่จะสร้างให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย “นวัตกรรมและเทคโนโลยี” จึงเป็นเสมือนตัวช่วยที่สำคัญ และอาจจะเป็นทางรอดของหลายประเทศในเวลานี้ โดยเฉพาะการรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมคลื่นลูกที่ 4 ระบบเศรษฐกิจของโลกกำลังถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูล การจัดงาน STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2021 หรือ “SITE2021” เป็นอีกหนึ่งความตั้งใจที่ต้องการสร้างเวทีแสดงศักยภาพของ “นวัตกรรมไทย” และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ตอบโจทย์ความท้าทายให้กับคนไทย และสามารถนำไปต่อยอดหรือขยายผลเป็นโอกาสในมิติต่างๆ มากขึ้น โดยในปีนี้ได้รวมการจัด 2 งานยิ่งใหญ่ระดับประเทศ STARTUP THAILAND และ INNOVATION THAILAND EXPO เข้าด้วยกัน ภายใต้แนวคิด “DEEP TECH RISING …The Next Frontier of Innovation” ที่มุ่งเน้นถ่ายทอดแนวทางการส่งเสริม พัฒนา และสร้างโอกาสการเติบโตใน “เทคโนโลยีเชิงลึก” หรือ Deep Tech ซึ่ง NIA เป็นหน่วยงานหลักที่ได้ริเริ่มและส่งเสริมสตาร์ทอัพในกลุ่มนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีเชิงลึกนี้ จะเป็นอาวุธสำคัญในการต่อยอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีอื่น เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่โลกอนาคตได้อย่างทัดเทียมประเทศชั้นนำของโลก
ทั้งนี้ SITE 2021 จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ วันที่ 15-18 กันยายนนี้ ผ่านเว็บไซต์ https://site.nia.or.th
เขียนข่าว : วัชรพล วงษ์ไทย
ถ่ายภาพ : ปวีณ ควรแย้ม
เผยแพร่ข่าว : ปราณี ชื่นอารมณ์
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2610 5241-47 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.