พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยม GISTDA - อว. ติดตามความก้าวหน้าโครงการดาวเทียมและศูนย์กลางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอวกาศ
เผยนำดาวเทียมมาใช้บริหารจัดการน้ำ ยันไม่ทิ้งเกษตรกร
ด้าน “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” รมว.อว. ชี้ดาวเทียมพร้อมสนับสนุนข้อมูลให้กับรัฐบาลเพื่อลดความเสียหายจากอุทกภัยและภัยแล้ง
เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 : พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามความก้าวหน้าโครงการดาวเทียมและศูนย์กลางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอวกาศ ในพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Eastern Economic Corridor of Digital: EECd) เพื่อติดตามการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยมี ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. และ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผอ. GISTDA ให้การต้อนรับ
โดย พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ ได้รับฟังสรุปความก้าวหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาระบบ THEOS-2 และการพัฒนาดาวเทียมระดับอุตสาหกรรมโดยทีมวิศวกรไทย การพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศจากเครือข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ รวมถึงการนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศไปใช้ประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำ ของกระทรวง อว.
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขอชื่นชมและขอบคุณ อว. ในการนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะข้อมูลดาวเทียมเพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งรัฐบาลมุ่งแก้ไขปัญหาด้วยข้อมูล โดยเฉพาะเรื่องของพืชเศรษฐกิจนั้น จำเป็นต้องมีมาตรการที่เหมาะสม เราจะต้องดูว่าทำอย่างไรที่จะช่วยดูต้นทาง ตั้งแต่การผลิต จำหน่าย โดยมีคุณภาพที่สูงขึ้น คือการเพิ่มมูลค่า ปลูกน้อยแต่ได้มาก ได้มาก คือการแปรรูป และทำอย่างไรให้แปรรูป ซึ่งจะทำได้ดีก็ด้วยการวิจัยและพัฒนา
“อย่างสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร พอทราบว่ามีผลทางสุขภาพ แล้วเราจะทำอะไรต่อได้อีก เพราะถ้าเราเน้นส่งเสริมการปลูก ก็จะต้องรู้ว่าจะเดินต่ออย่างไร จะเพิ่มมูลค่าได้อีกอย่างไรโดยใช้ความรู้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เราต้องไม่ทิ้งเกษตรกร ต้องคิดว่าทำอย่างไรจะเพิ่มรายได้กลับให้ชาวไร่ชาวนาด้วย" "รวมทั้ง การพัฒนาการเรียนรู้ จะต้องมีคนสอนที่เก่ง ไม่สอนยากจนเกินไป ไม่เช่นนั้นคนมาเรียนครั้งเดียวก็ไม่มาอีก ประเทศไทยต้องมีการจัดทำบิ๊กดาต้า (Big data) มีการประมวลผลที่ใช้งานได้ดี โดยต้องมีการบริหารข้อมูลอย่างระมัดระวัง และเที่ยงธรรม ยืนยันว่ารัฐบาลจะดูแลประชาชนและเกษตรกร และต้องเดินหน้าสู่อนาคต” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้เข้าเยี่ยมชมและรับฟังความคืบหน้าการดำเนินงานของศูนย์ทดสอบและประ กอบดาวเทียมแห่งชาติ รวมทั้งการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการความเป็นเลิศและนวัตกรรมการบินอวกาศ หรือ "กาแลคซี่" (GISTDA's Aerospace Laboratory of Excellence and Innovation) ซึ่งให้บริการทดสอบชิ้นส่วนวัสดุอากาศยานที่ได้รับรองมาตรฐานในระดับสากล รวมทั้งเยี่ยมชมศูนย์การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านอวกาศด้านกลศาสตร์วงโคจรของประ เทศไทยแบบครบวงจร หรือ Astro Lab ด้วย
ด้าน ดร.เอนก รัฐมนตรี อว. กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ให้ความสำคัญกับดาวเทียมเพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่ง GISTDA ของ อว. ได้นำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาใช้ในการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำจากข้อมูลดาวเทียม ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศไทย โดยนวัตกรรมดังกล่าวจะเป็นประโยชน์สำหรับเกษตรกรและประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะในภาคการผลิตเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการบริการ เพื่อให้เกิดการวางแผนการใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนข้อมูลให้กับรัฐบาล เพื่อให้เห็นภาพรวมของการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต่างๆ ทั้งการวางแผน การคาดการณ์ และการใช้น้ำในอนาคตได้อย่างแม่นยำ ลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในยามเกิดอุทกภัยและภัยแล้ง อันจะนำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางทรัพยากรน้ำ
"ที่สำคัญท่านนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสนใจและชื่นชมนักวิทยาศาตร์รุ่นใหม่และเยาวชนของไทยที่มาจากทุกภูมิภาค ที่มาร่วมกันทำงานโครงการดาวเทียมและการส่งเสริมธุรกิจอวกาศซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมในอนาคตของประเทศ" รัฐมนตรีเอนกกล่าวสรุป
เขียนข่าว : วัชรพล วงษ์ไทย / สุตานนท์ อาวจำปา
ถ่ายภาพ : สกล นุ่นงาม
ถ่ายภาพวีดีโอ : สุเมธ บุญเอื้อ
เผยแพร่ข่าว : ปราณี ชื่นอารมณ์
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2610 5241-47 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.