วันที่ 17 กันยายน 2564 สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี ให้เกิดความปลอดภัยทางรังสี ต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศ
นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีกับมหาวิทยาลัยบูรพา ผ่านระบบออนไลน์ ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 อาคาร 1 ปส. ร่วมกับรองศาสตราจารย์ วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา โดยมีนางเพ็ญนภา กัญชนะ รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกรัฐ ศรีสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และผู้บริหารทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามดังกล่าว
นายเพิ่มสุข เปิดเผยว่า ปส. มีแผนบูรณาการร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาการกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี โดยในภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นหน่วยปฏิบัติการส่วนหน้าของกระทรวง อว. ในการสนับสนุนการพัฒนาจังหวัดชลบุรี และดำเนินการพัฒนา แก้ไขปัญหาในระดับจังหวัด ให้สามารถขับเคลื่อนไปได้โดยเร็วอย่างเป็นรูปธรรม และใช้ทรัพยากรต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามนโยบาย “ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน” ของรัฐบาล ปส. จึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อวิจัยและพัฒนาการกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี พร้อมยกระดับห้องปฏิบัติการทางรังสีของมหาวิทยาลัยให้เป็นห้องปฏิบัติการทารรังสีประจำภาคตะวันออก เพื่อตรวจวัดทางรังสีในการกำกับดูแลความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในภาคตะวันออก กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินและเหตุความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีในพื้นที่ และกรณีอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการได้รับรังสี เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจตอบสนองได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองพัฒนาระบบและมาตรฐานกำกับดูแลความปลอดภัย กลุ่มพัฒนาด้านความปลอดภัย สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทร. 0 2596 7600 ต่อ 4304 หรือ ศูนย์ปรมาณูเพื่อสันติภูมิภาค ภาคตะวันออก (จังหวัดระยอง) โทร. 0 3869 4168
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.