สกสว. ร่วมกับ 9 หน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม เชิญกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิร่วมระดมสมอง พัฒนาการขับเคลื่อนระบบ ววน. ของประเทศ ครอบคลุมหลากหลายมิติ
เมื่อวันที่ 17-18 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ หน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม (PMU: Program Management Unit) 9 แห่ง ประกอบด้วย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและสร้างนวัตกรรม (บพค.) หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (ศลช.) ร่วมประชุม PMU Forum ครั้งที่ 7/2564 ณ เดอะไทด์ รีสอร์ท บางแสน ชลบุรี โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ประกอบด้วย คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) คณะกรรมการอำนวยการ สกสว. คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุน ววน. คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ คณะกรรมการบริหาร PMU ร่วมระดมสมองเสนอแนวทางการพัฒนาและขับเคลื่อนระบบ ววน. รวมถึงการยกระดับกลไกการส่งเสริมการลงทุนเข้าสู่ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)
ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธาน กสว. กล่าวว่า จากการปฏิรูประบบ ววน. ของประเทศเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาส่งผลให้ปัจจุบันหน่วยงานในระบบ ววน. มีการทำงานที่สามารถประสานเชื่อมโยงกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งการประชุมในวันนี้ได้มีการเชิญกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ PMU เข้าร่วมประชุม ถือเป็นโอกาสดีในการสร้างความเข้าใจถึงแนวทางการทำงานร่วมกันในลักษณะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) โดยจุดมุ่งหมายของการประชุมวันนี้มุ่งหวังให้เกิดข้อเสนอแนะ ความคาดหวังต่อการดำเนินงาน ขับเคลื่อนและพัฒนาระบบ ววน. รวมถึงแนวคิดเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนระบบ ววน. ของประเทศ
นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ กรรมการอำนวยการ สกสว. ได้ร่วมอภิปรายในการการเสวนา เรื่อง “ความคาดหวังต่อการดำเนินงาน ขับเคลื่อน และพัฒนาระบบ ววน.” กล่าว่า การขับเคลื่อนระบบ ววน. จำเป็นต้องมีกระบวนการจัดลำดับความสำคัญ (Priority Setting) ร่วมกันกับการใช้เป้าหมายและผลสัมฤทธิ์สำคัญ (Objectives and Key Results: OKRs) ผ่านการดำเนินงานระหว่าง สกสว. กับ PMU ที่จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กัน จะสามารถช่วยสร้างผลลัพธ์และผลกระทบ สร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณะชน นอกจากนี้หน่วยงานในระบบ ววน. จำเป็นต้องร่วมกันสื่อสารเพื่อให้สังคมตระหนักถึงบทบาทของ ววน. ในการพัฒนาประเทศ
ทางด้าน คุณกานต์ ตระกูลฮุน ประธานกรรมการติดตามและประเมินผลกองทุน ววน. กล่าวว่า การขับเคลื่อนระบบ ววน. ให้มีประสิทธิภาพได้นั้นจำเป็นต้องสร้างภาคีความร่วมมือ (Consortium) ที่ประกอบด้วย
ภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ซึ่งจะก่อให้เกิดระบบนิเวศน์ที่สำคัญ ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมที่ยอมรับได้เชิงประจักษ์ ซึ่งหน่วยงานในระบบ ววน. นั้นจำเป็นต้องร่วมกันสร้าง “ศรัทธา” เพื่อให้สังคมเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของระบบ ววน.
รองศาสตราจารย์ ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน์ ประธานกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แสดงความเห็นว่า ตั้งแต่ปฏิรูประบบ ววน. มาในระยะ 3 ปี มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบหลายอย่าง คำถามสำคัญคือจะทำอย่างไรให้ PMU สามารถสืบต่อสิ่งที่ดีที่มีมาก่อนหน้านี้ ไปพร้อมกับการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายใหม่ได้อย่างราบรื่นรวดเร็ว สิ่งที่จะช่วยก็คือ การสร้างความเข้าใจร่วมกัน ทั้งเป้าหมายและหน้าที่ ร่วมถึงการเชื่อมต่อร่วมงานกันอย่างใกล้ชิด ในในระดับสภานโยบายฯ คณะกรรมการนโยบายฯ และหน่วยงานที่ขับเคลื่อน
นอกจากนี้ นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ ประธานกรรมการบริหารสถาบันวัคซีนแห่งชาติ คุณเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ กรรมการบริหารหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และ นายแพทย์สุวิทย์ วิบูลย์ผลประเสริฐ ประธานกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ ได้ร่วมอภิปรายถึงบทบาทและความคาดหวังของหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม และแนวทางการสร้างผลลัพธ์และผลกระทบของงานวิจัยและนวัตกรรมให้เป็นที่ยอมรับของภาคนโยบายและสาธารณะด้วย
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวย สกสว. สรุปการประชุมว่า สกสว. และ PMU เห็นร่วมกันถึงความสำคัญของการจัดลำดับความสำคัญของแผนงาน (Priority setting) เนื่องจากมีงบประมาณจำกัด เร่งปิดช่องว่างระหว่างผลการวิจัยและพัฒนาให้ไปสู่ผลลัพธ์ผลกระทบที่เด่นชัด และสามารถตอบเป้าหมายของการพัฒนาประเทศได้ ทั้งนี้ต้องสร้างความศรัทธา ของภาคีเครือข่ายในระบบ ววน. และของภาครัฐ ภาคประชาสังคม และสาธารณะ ควบคู่ไปด้วย
นอกจากนี้การประชุมในครั้งนี้ยังมีการจัดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง สถานการณ์ปัจจุบัน บทบาทและความคาดหวังต่อการดำเนินงาน ขับเคลื่อนและพัฒนาระบบ ววน. ใน 3 ประเด็น คือ การนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์, ระบบการบริหารจัดการทุนให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง สกสว. กับ PMU ซึ่งจะส่งผลให้การทำงานร่วมกันระหว่าง สกสว. และ PMU เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่งผลต่อการขับเคลื่อนระบบ ววน. เพื่อพัฒนาประเทศ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.