นักวิจัยเตือนอาจมีอาฟเตอร์ช็อกอีกหลายครั้งหลังเกิดแผ่นดินไหวที่ลาว แรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ถึงจังหวัดน่าน ขอให้ประชาชนสำรวจโครงสร้างบ้านและโบราณสถาน หากพบรอยร้าวให้แจ้งเจ้าหน้าที่ แนะไทยควรมีระบบแจ้งเหตุแผ่นดินไหว และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการอนุรักษ์โบราณสถาน
ศาสตราจารย์ ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย และนักวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 5.8 ที่เกิดขึ้นที่ประเทศลาวเมื่อเช้ามืดของวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ได้ส่งผลให้หลายจังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ โดยพบร่องรอยกระเบื้องหลังคาพระอุโบสถและองค์พระประธานจตุรพักตร์ 4 ด้าน ซึ่งตั้งประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถวัดภูมินทร์ พบรอยร้าวขยายเพิ่มจากความเสียหายแผ่นดินไหวครั้งก่อน 6.4 ริกเตอร์เมื่อปี 2562 และพบรอยร้าวใหม่อีกหลายจุดเป็นแนวยาวจนมองเห็นปูนภายในอย่างเห็นได้ชัด
สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้เกิดขึ้นนอกประเทศไทย โดยมีระยะห่างจากจังหวัดน่านประมาณ 20 กิโลเมตร ซึ่งแผ่นดินไหวขนาด 5.8 ถือว่าได้มีความรุนแรงระดับปานกลาง จึงทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนที่ส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทยได้ แต่ด้วยระยะทางที่ห่างออกไปไม่ไกลมากนัก จึงเชื่อว่าอาจจะมีผลกระทบต่อโครงสร้างอาคารบ้าง แต่ก็คาดว่าจะรุนแรงถึงขั้นที่ทำให้โครงสร้างอาคารในประเทศไทยเกิดการถล่มลงมา อย่างไรก็ตามโครงสร้างอาคารในพื้นที่ที่อยู่ในบริเวณที่ใกล้แผ่นดินไหวมากกว่านี้อาจเกิดการแตกร้าวเสียหายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารหลายหลังที่ไม่ได้ออกแบบและก่อสร้างมาให้ต้านแผ่นดินไหวหรือเป็นอาคารที่ไม่ได้มาตรฐานทางวิศวกรรม
“ประชาชนจึงควรสำรวจโครงสร้างบ้านเรือนของตนเองด้วยว่ามีรอยร้าวเกิดขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่โคนเสาด้านล่างและกำแพง หากสังเกตเห็นรอยร้าวหรือปูนกะเทาะออกมา จะต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้เข้าตรวจสอบโดยละเอียดทันที ทั้งนี้อาจเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกได้ในช่วงระยะเวลา 2-3 วันนี้และอาจเกิดขึ้นอีกเป็นระยะเวลาหลายเดือน โดยอาจมีความรุนแรงได้ถึง 4-5 ริกเตอร์ และหากเกิดขึ้นใกล้กว่าเดิมก็อาจทำให้ส่งผลกระทบต่ออาคารที่เสียหายไปก่อนหน้านี้ได้ นอกจากนี้โครงสร้างโบราณสถาน วัด เจดีย์ หลายแห่ง ซึ่งก่อสร้างมานานแล้วและอาจก่อสร้างขึ้นจากอิฐที่ไม่ได้มีการเสริมเหล็ก อาจได้รับผลกระทบมากกว่าโครงสร้างคอนกรีตที่มีเหล็กเสริมด้านใน ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรเร่งสำรวจความเสียหายของโครงสร้างโบราณสถานด้วย”
นักวิจัยฝากให้ประชาชนในภาคเหนือรวมถึงภาคตะวันตกของประเทศไทยเฝ้าระวัง เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีรอยเลื่อนที่มีพลัง (Active faults) อยู่หลายแห่ง เช่น รอยเลื่อนพะเยา รอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนปัว และอื่น ๆ เนื่องจากในปี 2557 ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ที่จังหวัดเชียงราย มีศูนย์กลางที่ อำเภอแม่ลาว ทำให้เกิดความเสียหายทางโครงสร้างแก่อาคารหลายหลังและมีผู้เสียชีวิต ภัยแผ่นดินไหวจึงมิอาจละเลยได้
ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎกระทรวงการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ใน 43 จังหวัดของประเทศไทย แต่ยังมีอาคารอีกจำนวนมากที่ออกแบบและก่อสร้างมาก่อนที่กฎกระทรวงนี้จะประกาศใช้ ดังนั้นอาคารหลายแห่งจึงยังเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวอยู่ จึงควรมีมาตรการประเมินและเสริมความแข็งแรงอาคารเหล่านี้ให้ต้านแผ่นดินไหวได้ในระดับที่เหมาะสมต่อไป และภาครัฐควรมีระบบแจ้งเหตุแผ่นดินไหว เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและทันท่วงที
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.นคร ภู่วโรดม หัวหน้าชุดโครงการการอนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานตามหลักวิศวกรรม กล่าวย้ำถึงความสำคัญของโบราณสถานในประเทศไทย ว่ามีโครงสร้างที่มีอายุยาวนานมากและเปราะบางกว่าโครงสร้างในปัจจุบัน จึงไม่ควรปล่อยให้ผุพังไปตามกาล ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีที่ทันสมัยซึ่งจะช่วยสำรวจและบูรณะโครงสร้างเก่าแก่เหล่านั้นให้คงอยู่สืบไป หากมีการวางแผนและดำเนินงานเชิงรุก ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรสนับสนุนการทำวิจัยและสร้างองค์ความรู้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์และบูรณะโบราณสถานอย่างจริงจังมากขึ้น
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.