เมื่อวันที่ 4 ต.ค. นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวง อว. ร่วมเสวนา "ผลการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) 4 ปี : สร้างกำลังคนดี ประเทศมีอนาคต” โดยมี รศ.ดร.คมกฤต เล็กสกุล ผอ.กลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านกำลังคนและสถาบันความรู้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผอ.หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านพัฒนากำลังคนฯ (บพค.) และ คุณธรรมภรณ์ ประภาสะวัต ผอ.กองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 3 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เข้าร่วม ที่ห้องประชุม B1-2 อาคารรัฐสภา เกียกกาย
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า การผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จึงควรมีการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนาด้านคุณภาพการศึกษา หลักสูตรการศึกษา การพัฒนากำลังคนให้มีทักษะที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ รวมถึงการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรมและการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ ซึ่งจากผลสำรวจแนวโน้มการจ้างงานของ ManpowerGroup พบว่า แนวโน้มความต้องการกำลังคนทั่วโลกสูงขึ้นกว่า 30% ในขณะที่ ยังมีแรงงานขาดทักษะที่จำเป็นมากกว่า 77% และมีอัตราความต้องการกำลังคนในแต่ละภาคส่วนของทั่วโลก โดยเฉพาะด้าน IT มากถึง 39% ด้าน Financials& Real Estate 33% และ ด้าน Communication service และ Health Care & Life Sciences 31% เช่นเดียวกันกับประเทศไทยที่ขาดบุคลากรทักษะสูงเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่ม Digital Aviation & Logistic และ Medical Hub ในขณะที่ ประเทศไทยสามารถผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรี กว่า 200,000 คนต่อปี แต่มีเพียงจำนวน 100,000 กว่าคนที่มีงานทำ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าไม่สามารถผลิตกำลังคนตรงกับความต้องการของผู้จ้างงาน
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ได้ดำเนินการสนับสนุนกลไกการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงที่ตรงต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนาทักษะเพื่อการจ้างงานตามความต้องการของประเทศ โดย GenNX Model โดยดำเนินการร่วมกับ บพค. และ Generation การผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศ โดยได้ดำเนินการปลดล็อคข้อจำกัดในการจัดการเรียนการสอนและสนับสนุนสร้างนวัตกรรมการอุดมศึกษาผ่านการจัดทำหลักสูตรที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) โครงการ Lift Skill Thai Labor Force เพื่อวิเคราะห์ความต้องการในกลุ่มงาน ความรู้ ความสามารถหรือทักษะของตลาดแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายของประเทศในระยะปานกลางและระยะยาว รวมถึงแนวโน้มการพัฒนาและรับบุคลากรเข้าสู่ตลาดแรงงาน และคัดเลือกมหาวิทยาลัยต้นแบบเพื่อร่วมพัฒนาหลักสูตรและโครงการพัฒนาสมรรถนะที่ต้องการสูงให้ทันต่อความต้องการของตลาด รวมถึงโครงการทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่ ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ ปีงบประมาณ 2545 - 2565 เพื่อเตรียมความพร้อมขั้นพื้นฐานให้แก่อาจารย์รุ่นใหม่ให้ก้าวไปสู่การทำงานวิจัยในระดับที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมในอนาคต เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบการวิจัยของประเทศต่อไป โดยในปีงบประมาณ 2566 วช. ได้รับไปดำเนินการ เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรมและการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการต่อไป
ทั้งนี้ ในงานเสวนาดังกล่าว ได้เชิญบุคคลต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ มีผลงานวิจัยและโอกาสที่ได้รับจากการสร้างและพัฒนากำลังคน ได้แก่ ศ.ภก.ดร.ปิติ จันทร์วรโชติ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.ณัฐดนัย หาญการสุจริต คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.อัษฎางค์ ไตรตั้งวงศ์ บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด และ นายภทรกร นิจจรัลกุล บริษัท Deep Capital ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมอบในการสร้างและพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมอีกด้วย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.