(14 กันยายน 2563) ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานการประชุม “รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. พบ สกสว. และหน่วยบริหารจัดการทุน (PMUs)” ณ อาคารเอส เอ็ม ทาวเวอร์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยมี ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สกสว. ให้การต้อนรับ โดยการประชุมครั้งนี้เป็นไปเพื่อสร้างการรับรู้ข้อมูลด้านผลการดำเนินงานของปีบประมาณ 2563 และแผนการจัดสรรทุนของปีงบประมาณ 2564 ของแต่ละหน่วยงาน ให้ ศ.ดร.เอนก รับทราบ เพื่อประโยชน์ในการออกแบบนโยบายและบูรณาการทำงานร่วมกันในการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ (ววน.)
ศ.ดร.เอนก กล่าวว่า จากการจัดตั้งกระทรวง อว. ได้เกิดโครงสร้างใหม่ที่มีการตั้งสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และ คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ตลอดจนเกิดหน่วยงานใหม่ขึ้นรวมถึงการเปลี่ยนแปลงภารกิจของหน่วยงานเดิม เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ออกแบบการทำงานให้มีความคล่องตัวจึงมีการจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยของประเทศ ผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ซึ่ง สกสว. เป็นผู้ดูแลและบริหารจัดการกองทุน กลไกดังกล่าวถือเป็นปัจจัยในการผลักดันให้เกิดการวิจัยในลักษณะจะจัดเป็นทุนก้อนระยะยาวที่ไม่ใช่ปีต่อปี (Block Grant และ Multiyear) มีกระบวนการติดตามและประเมินผลวิจัยตามเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่จะทำให้จัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยของประเทศได้อย่างตรงเป้าหมาย ตอบโจทย์ และใช้ประโยชน์กับประเทศได้จริง ในฐานะที่ผมได้เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขอขอบคุณ สกสว. และผู้บริหารหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMUs) ทั้ง 7 แห่ง และสำนักงานปลัดกระทรวง อว. ที่ทำงานอย่างเต็มที่ในปีที่ผ่านมา “ผมอยากเห็นความร่วมมือของทุกท่านในการขับเคลื่อนงานของกระทรวงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กระทรวง อว. เป็นกระทรวงแห่งปัญญา กระทรวงแห่งโอกาส และกระทรวงแห่งอนาคต”
ด้าน รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล รักษาการผู้อำนวยการ สกสว. ได้ชี้แจงข้อมูลในที่ประชุมรับทราบถึงผลการดำเนินงานสำคัญในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของ สกสว. ในปีที่ผ่านมา ซึ่ง สกสว. ได้จัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ทั้งในส่วนของปี 2563 และ ปี 2564 เสร็จแล้ว โดยในปีนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤตโควิด 19 ทำให้มีการเพิ่มเติมแผนจาก 16 โปรแกรมเป็น 17 โปรแกรม โดยโปรแกรมที่ 17 คือ “การแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ” โดยมีเป้าหมายในการสร้างชุดความรู้ ระบบข้อมูล และใช้นวัตกรรมในการลดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนจากภัยพิบัติขนาดใหญ่ และให้ทิศทางกับหน่วยบริหารจัดการทุน (PMUs) ต่างๆ ของประเทศในการปรับการดำเนินงานเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้จัดทำรายงาน “สถานการณ์ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย” เพื่อนำไปสู่การเสนอนโยบายที่เหมาะสม
ในส่วนของการบริหารจัดการระบบงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปีงบประมาณ 2563 มีการจัดสรรงบประมาณปี 2563 จากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือกองทุน ววน. วงเงินกว่า 12,554 ล้านบาท ให้กับหน่วยบริหารจัดการทุน (PMUs) จำนวน 7 แห่ง และหน่วยรับงบประมาณในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวน 58 หน่วยงาน นอกจากนี้ สกสว. ยังได้ร่วมมือกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ (NRIIS) ซึ่งเป็นระบบสารสนเทศกลางของประเทศที่เชื่อมโยงข้อมูลการบริหารจัดการงบประมาณด้าน ววน. ในทุกระดับให้เป็นระบบเดียว คือ ฐานข้อมูลงานวิจัย ฐานข้อมูลนักวิจัย ฐานข้อมูลเครื่องมือการวิจัย และฐานข้อมูลการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ โดยเป็นการทำงานแบบทันเวลา (Real Time Management) ที่แต่ละภาคส่วนของการบริหารจัดการวิจัยสามารถเข้าถึงได้
ในมิติการพัฒนาระบบและเครือข่ายวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คณะทำงานได้ทำการศึกษาสถานภาพความเข้มแข็ง จุดแข็ง จุดอ่อน รวมทั้งอุปสรรคของระบบบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมของหน่วยบริหารและจัดการทุน สังเคราะห์ชุดความรู้ด้านการบริหารจัดการงานวิจัย ออกแบบหลักสูตรอบรมบุคลากรด้านงานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงเผยแพร่เป็นความรู้ให้แก่หน่วยงานในระบบ ววน. สร้างแนวทางและหลักเกณฑ์ในการติดตามประเมินผลหน่วยงานที่ไดรับการจัดสรรงบประมาณวิจัย โดยการศึกษาข้อมูลรูปแบบการติดตามและประเมินผลงานวิจัยและนวัตกรรมของสหราชอาณาจักร และสิงคโปร รวมถึงหน่วยงานให้ทุนวิจัยในระดับประเทศ อาทิเช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) วช. ตลอดจนขับเคลื่อนให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ และสื่อสารข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ระบบ ววน.) ให้ประชาคมวิจัยตลอดจนสาธารณชนได้รับทราบ
ทั้งนี้ การทำงานตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมา จะสำเร็จไม่ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในระบบ ววน. ทั้ง สอวช. และหน่วยบริหารจัดการทุน (PMUs) ทั้ง 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) 2.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) 3.สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร องค์การมหาชน (สวก.) 4.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) 5.หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) 6.หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและสร้างนวัตกรรม (บพค.) และ 7.หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ที่ทำงานกันอย่างเหน็ดเหนื่อยเพื่อร่วมมือกันในการพัฒนาระบบ ววน. อย่างยั่งยืน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.