ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วยผู้บริหารสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย นำโดย ศ.ดร. ธนารักษ์ ธีระมั่นคง นายกสมาคม ตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา กว่า 60 องค์กร ร่วมพิธีแสดงเจตจำนงเข้าร่วมกฎบัตรภาคีปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (Thai AI Consortium) พิธีเปิดโครงการพัฒนาบุคลากรความสามารถพิเศษด้านปัญญาประดิษฐ์ (Super AI Engineer) พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดการองค์ความรู้ดิจิทัลการรับรองและพัฒนาทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศ (AI Academy Alliance) ณ โรงละคอน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ปทุมธานี เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ผมมีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาเป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในพิธีลงนามกฎบัตรภาคีปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (Thai AI Consortium) พิธีเปิดโครงการพัฒนาบุคลากรความสามารถพิเศษด้านปัญญาประดิษฐ์ (Super AI Engineer) และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดการองค์ความรู้ดิจิทัล การรับรองและพัฒนาทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศ (AI Academy Alliance) ซึ่งนับเป็นความร่วมมือในรูปแบบพหุภาคี ที่ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน องค์กรภาคการศึกษา และสมาคมต่าง ๆ ได้มารวมตัวกัน ถือเป็นนิมิตหมายอันดี ในการริเริ่มโครงการที่มีประโยชน์ทั้งสามนี้ โดยนับเป็นการสร้างกลุ่มพันธมิตรเชิงวิชาการที่ช่วยเหลือกันในการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าและมีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะการสร้างและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้ความสามารถและทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ
ศ.ดร. ธนารักษ์ ธีระมั่นคง นายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย กล่าวว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ เอไอ (Al) ถือเป็นหัวใจหลักเรื่องหนึ่งในการพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ประกอบกับมีความต้องการเทคโนโลยีนี้ มาประยุกต์ใช้ในหลากหลายสาขาวิชาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการประยุกต์ใช้ในบริบทของประเทศไทย แต่เนื่องจากปัญญาประดิษฐ์เป็นเทคโนโลยีใหม่ ประเทศไทยยังขาดผู้เชี่ยวชาญที่จะมารองรับความต้องการทั่งในภาคเอกชน ภาครัฐ และการศึกษา การพัฒนาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขานี้จะใช้เวลานาน ส่งผลให้ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องลงทุนกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในมูลค่าที่สูง และทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เกิดในวงจำกัดทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นจึงเกิดแนวความคิดที่จะรวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์และผู้ที่มีแรงบันดาลใจ มีความตั้งใจพัฒนาตนเอง มาพบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีนี้ร่วมกัน และสร้างชุมชนปัญญาประดิษฐ์ (Community) โดยมีจุดมุ่งหมายให้เกิดผลงานเป็นรูปธรรมในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา อันก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ
ศ.ดร. ธนารักษ์ฯ กล่าวต่อ ความร่วมมือก่อตั้งกฎบัตรภาคีปัญญาประดิษฐ์ไทย ในครั้งเป็นข้อตกลงหรือบรรทัดฐานในความร่วมมือของสมาชิกหรือ ชุมชนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในประเทศ โดยวัตถุประสงค์หลักคือการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางสำหรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์พร้อมใช้ในประเทศไทย และพัฒนานักปัญญาประดิษฐ์ในสาขาวิชาต่าง ๆ ให้ทำงานได้จริง เพื่อก่อให้เกิดคุณูปการต่อประเทศทั้งในแง่การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การลดค่าใช้จ่าย การยกระดับคุณภาพชีวิต และการเพิ่มศักยภาพด้านผลผลิต (productivity) ของประเทศ การรวมตัวครั้งนี้แสดงถึงศักยภาพของประเทศไทยที่พร้อมจะขับเคลื่อนไปสู่สังคมปัญญาประดิษฐ์ ที่เกิดจากองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา กว่า 60องค์กร และเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) ทางปัญญาประดิษฐ์ของประเทศ โดยมุ่งหวังที่จะ (1) ประยุกต์ปัญญาประดิษฐ์ในบริบทของประเทศไทย (2) ผลักดันการยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตและบริการด้วยปัญญาประดิษฐ์ (3) เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยน การให้คำแนะนำ การตรวจสอบ การรับรองเครือข่ายชุมชน ปัญญาประดิษฐ์บนฐานการทำงานที่มีคุณภาพระดับสากล และ (4) แสวงหาโอกาลในการขยายเครือขยายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต
สำหรับโครงการสุดยอดวิศวกรปัญญาประดิษฐ์ (Super Al Engineer) นั้น ปัจจุบันมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 2,059 คน ซึ่งเป็นทั้งนิสิต นักศึกษา พนักงานบริษัท ผู้ประกอบการอิสระ รวมถึงผู้ก่อตั้งวิสาหกิจเริ่มต้น โดยทางสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (Artificial Intelligence Association of Thailand: AAT) และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับอนุมัติทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน การพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัย และการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ให้ดำเนินงาน "โครงการพัฒนานวัตกรรม/วิศวกร/วิสาหกิจเริ่มต้น ด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ เรียกสั้น ๆ ว่า “สุดยอดวิศวกรปัญญาประดิษฐ์ (Super Al Engineer) นี้ อนึ่งโครงการนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาบุคลากรด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อขับเคลื่อนประเทศในอนาคต ทางสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิริธร ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายสมาชิก สมาคมจากองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนกว่า 60 องค์กร.
สุดท้ายนี้ความร่วมมือการจัดการองค์ความรู้ดิจิทัล การรับรองและพัฒนาทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศ หรือ เรียกสั้น ๆ ว่า พันธมิตรวิทยาสถานด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI Academy Alliance) นั้น สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย, สถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต และ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) โดย สถาบันวิชาการทีโอที, และ สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย ได้มีความร่วมมือกันสร้างมาตรฐานหลักสูตรการอบรมทางด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อบุคลากรของชาติ สร้างทรัพยากรการเรียนรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ และดำเนินกิจกรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ร่วมกัน
เผยแพร่ข่าว : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ
ส่วนสื่อสารองค์กร สำนักบริหารกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.