วันที่ 4 ตุลาคม 2563 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานในพิธีเปิดและบรรยายพิเศษในโครงการสัมมนาวิชาการเรื่อง “นวัตกรรมวิจัย แบบ New Normal” จัดโดยคณะรัฐศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ และคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เพื่อให้นักศึกษาระดับปริญญาเอกทั้ง 3 คณะของมหาวิทยาลัยฯ ได้รับฟังคำแนะนำและแนวทางที่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนางานวิจัยของนักศึกษาให้มีความทันสมัย ให้ได้ความรู้ใหม่ที่ก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ณ ห้องสัมมนาชั้น 4 อาคาร Sports Complex มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวว่า ตนได้เห็นถึงความสำคัญและความตั้งใจของมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาช่วยเหลืองานของรัฐบาลในด้านอุดมศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก ในฐานะรัฐมนตรีฯ จะพยายามสนับสนุนมหาวิทยาลัยเอกชนให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเอกชนในประเทศแถบตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยเอกชนมีการก่อตั้งขึ้นก่อนมหาวิทยาลัยของรัฐ เนื่องจากจุดกำเนิดของสหรัฐอเมริกาคือต้องการเสรีภาพทางศาสนาและความคิด ดังนั้น จึงค่อนข้างไม่ให้รัฐจัดตั้งโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เพราะเกรงว่าจะถูกครอบงำทางอุดมการณ์และศาสนา ทำให้มหาวิทยาลัยของเอกชนมีความเป็นเลิศมายาวนาน โดยมหาวิทยาลัยเอกชนไม่ได้เป็นรูปแบบของธุรกิจแต่เป็นแบบประชาสังคมมากกว่า เช่น มหาวิทยาลัยในมลรัฐ แต่สำหรับประเทศไทยแตกต่างจากสหรัฐฯ เนื่องจากภาคเอกชนและสังคมยังไม่เข้มแข็งมากพอ จึงเกิดมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศที่เป็นของรัฐก็คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งก็เป็นของรัฐเกิดขึ้นตาม รวมถึงโรงเรียนต่าง ๆ ที่ล้วนแต่เป็นของรัฐก็เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ภายหลังก็มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยและโรงเรียนของเอกชนเกิดขึ้น ซึ่งในส่วนนี้ก็จะดูแลให้ดีด้วยเช่นกัน
รมว.อว. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การทำวิจัยที่ดีต้องมี passion หรือ ฉันทะ คือความชอบเรื่องที่จะทำวิจัย จึงจะสามารถทำการวิจัยได้ดี แต่ในความเป็นจริงนักศึกษาส่วนใหญ่จะพยายามเลือกหัวข้อที่จะทำวิจัยและอาจารย์เพื่อพิจารณาอ่านผลงานวิชาการที่คาดว่าจะทำให้ผลงานวิจัยสำเร็จง่าย โดยไม่ได้คัดเลือกหัวข้อวิจัยที่น่าสนใจและประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองและองค์กร อีกทั้งยังไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้องและคุณภาพของการผลงานวิจัย แต่มุ่งหวังเพียงให้สำเร็จการศึกษาเท่านั้น ดังนั้น จึงอยากให้นักศึกษาสนใจเรื่องการทำวิจัยให้มากขึ้น เพราะเรื่องนี้เป็นหัวใจของการศึกษาระดับปริญญาโทและเอก ทั้งนี้ การทำงานวิชาการต่อไปในอนาคตให้มีคุณภาพก็ขึ้นอยู่ที่การทำวิจัยด้วยเช่นกัน
“งานวิจัยดี ๆ มันเกิดจาก unconventional เพราะความคิดมันแปลก ไม่ใช่งานที่เชื่อฟังอาจารย์โดยตั้งคำถามเลย อย่างที่พระพุทธองค์สอน อย่าเชื่อเพราะคิดว่าสิ่งนี้ใช่ เพียงแต่เพราะอาจารย์พูดหรือศาสดาพูด ต้องเชื่อเพราะว่ามีหลักฐานหรือมีเหตุผลที่ต้องเชื่อ วิจัยที่ดีคือไม่ใช่ทฤษฎีตามใจอาจารย์ แต่เราเองก็ต้องสนใจทฤษฎีที่มีมาก่อนด้วยเช่นกัน เพราะไม่มีอะไรที่เกิดมาจากความว่างเปล่าทุกอย่างมีที่มาทั้งนั้น ไม่ใช่จะ disrupt ทั้งหมด มันเกิดจากความคิดเดิม เพียงแต่การต่อยอดมันอาจจะมากจนดูเหมือนเป็นการ disruption ทุกอย่างเท่านั้น” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนกฯ กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการ รมว.อว. กล่าวเสริมว่า การบรรยายพิเศษของ รมว.อว. ในครั้งนี้ ทำให้นักศึกษาปริญญาระดับเอกได้ทราบแนวทางที่จะต้องทำงานวิจัย ซึ่งนโยบายของรัฐมนตรีฯ คือต้องทำงานวิจัยที่เป็นของจริงและต้องเกิดประโยชน์ต่อตัวเอง ชุมชน และสร้างงานสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งกลุ่มนักศึกษาเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพเป็นนักศึกษาปริญญาเอกทั้งหมด ดังนั้น การได้รับฟังบรรยายฯ ถือว่าเป็นประโยชน์และทรงคุณค่ามาก ๆ
ข่าว : นางสาวพจนพร แสงสว่าง
ภาพ : นายภูมินทร์ ปั้นเล็ก
วีดีโอ : นายสุเมธ บุญเอื้อ
ส่วนสื่อสารองค์กร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทร. 02 333 3727 – 3732 โทรสาร 02 333 3834
E-Mail: pr@mhesi.go.th Facebook: MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.