7 ธันวาคม 2563 : ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายสำราญ รอดเพชร ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ศาสตราจารย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงฯ และคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง อว. เข้าเยี่ยมชมพร้อมทั้งนำเสนอทิศทางและนโยบายการดำเนินการให้แก่คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยบูรพา ณ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยบูรพา และเยี่ยมชมการดำเนินการของ “EEC Automation Park” หรือ ศูนย์พัฒนาบุคลากรหุ่นยนต์ & ระบบอัตโนมัติ ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี
รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวต้อนรับคณะผู้เยี่ยมชมและนำเสนอผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยบูรพาในภาพรวมในฐานะ “มหาวิทยาลัยหลักในภูมิภาคตะวันออก” รวมถึงผลงานที่น่าสนใจของมหาวิทยาลัย
จากนั้น ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำเสนอทิศทางและให้นโยบายการดำเนินการแก่คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย รมว.อว. กล่าวตอนหนึ่งว่า มหาวิทยาลัยบูรพาเป็นมหาวิทยาลัยที่เจริญก้าวหน้าเร็วมาก ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีมหาวิทยาลัยสามารถขับเคลื่อนไปได้ไกล และอยู่ระดับสูงในศาสตร์หลายด้าน ข้อสรุปเบื้องต้นคือคนไทยเก่งมากทั้งศาสตร์และศิลป์ ในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเราเก่งมาก หลายปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเจริญเติบโตด้วยศาสตร์โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยที่ตั้งมานานที่มีอันดับเหนือกว่าเรานั้นมีน้อย แสดงให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางอุดมศึกษาของเรามีน้อย สิ่งไหนที่มหาวิทยาลัยบูรพาดีอยู่แล้วก็ขอให้ทำต่อไป สิ่งใดที่อยากให้ อว. สนับสนุน ทางกระทรวงก็ยินดีที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่
เรื่องที่อยากฝากมหาวิทยาลัย เรื่องแรกอยากชวนท่านให้ทำความร่วมมืออย่างเป็นระบบในทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีกับต่างประเทศ อาทิ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี งานการต่างประเทศของมหาวิทยาลัยจะสำคัญยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่เพียงทำ MOU เท่านั้น แต่ต้องเป็นในเชิงที่นำมหาวิทยาลัยต่างชาติเข้ามาสอน ทำวิจัยร่วมกับประเทศไทย ประเทศจีนเป็นประเทศหนึ่งที่มีแนวโน้มที่สามารถทำความร่วมมือกับเราได้ อยากให้ลองดำเนินการนำมหาวิทยาลัยที่เป็นเลิศของจีนมาเปิดหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา ประเทศจีนก้าวหน้าในเกือบทุกศาสตร์ ในบางศาสตร์ก้าวหน้าอยู่ในระดับโลก ชวนเขามาเปิดมหาวิทยาลัยในประเทศ ให้อาเซียนได้เรียน ไทยจะเป็นศูนย์กลางให้ แต่อาจารย์เราจะต้องสอนด้วย ต้องให้ปริญญาบัตรร่วมกับเขา ทำวิจัยร่วมกับเขา ถ้ามหาวิทยาลัยใดทำได้ก่อนก็จะได้เปรียบ วิทยสถานวิทยาศาสตร์ของประเทศจีนมีการวิจัยที่ลงสู่การปฏิบัติเยอะ ถ้ามาเปิดมหาวิทยาลัยที่ EEC ของไทยมาร่วมเป็น strategic partner กับมหาวิทยาลัยบูรพา จะทำให้มหาวิทยาลัยบูรพาก้าวกระโดดไปได้ไกล แต่จะต้องชวนประเทศอื่นๆด้วย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี เมื่อเราทำได้ดี ประเทศทางตะวันตกก็จะสนใจเรา เพราะเรามีราคาทางอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่สูงขึ้น จะเป็นประโยชน์กับมหาวิทยาลัยของเรา
เรื่องที่สองคือ มหาวิทยาลัยบูรพานิยามตนเองว่าเป็นขุมปัญญาแห่งตะวันออก อยากจะชวนให้คิดว่าอะไรคือตะวันออก ลักษณะนิสัย วัฒนธรรมแบบของคนตะวันออก คนไทยแต่ละภาคมี character ที่ต่างกัน ท่านต้องลองค้นดู ต้องสร้างนักศึกษาให้เป็นคนไทยและเป็นคนภาคตะวันออกด้วย จะต้องรู้ภูมิวัฒนธรรมของที่ที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ ต้องสร้างคนภาคตะวันออกให้ global ที่สุด ให้สมกับภูมิศาสตร์ของเรา โดยเฉพาะถ้าเข้าใจประวัติศาสตร์จะเห็นเลยว่าภาคตะวันออกของเราคือประตูสู่กรุงเทพจากการเดินทางทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพาต้องเป็นเจ้าของอ่าวไทยให้ได้ น่าจะต้องตั้งวิทยาสถานอ่าวไทย ต้องรวมเขมร กัมพูชา และเวียดนามเข้ามาด้วย คำว่าภาคตะวันออกของท่านต้องมองแบบทะเล อารยธรรม การค้าของเราได้จากทะเล มหาวิทยาลัยบูรพาต้องพยายามคิดความรู้แบบท้องถิ่น แบบพื้นที่ แบบไทย แบบภาคตะวันออกด้วยปัญญาของตัวเองให้มากยิ่งขึ้นถึงคุ้มที่จะเรียกว่า wisdoms ถ้าท่านช่วยกันทำให้คนภาคตะวันออกมี mindset ใหม่ที่ลึกขึ้น ไม่ได้มองไปที่กรุงเทพฯอย่างเดียว แต่มองไปที่ภาคตะวันออกที่โยงถึงกัมพูชา เวียดนาม จีน ก็จะเป็นระบบมากขึ้น สนใจวิชาสมุทรศาสตร์ให้มากขึ้น สนใจวิทยาศาสตร์ทางทะเล ถ้าท่านทำเรื่องสมุทรศาสตร์ให้ดี เอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของท่านมุ่งลงทะเลให้มากขึ้น ก็จะคุ้มกับการที่ท่านมาอยู่ที่มหาวิทยาลัยบูรพา
อีกเรื่องหนึ่งเราพูดกันถึงศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นการพูดตามตะวันตก แต่เราควรจะพูดว่ายุคนี้จะต้องเป็นยุคที่ อว. และมหาวิทยาลัยรวมพลังกันสร้างชาติด้วยความรู้และปัญญา ที่ผ่านมาเราก็เอาแต่สร้างความรู้ ให้ความรู้ ทำวิจัยและนวัตกรรม เพื่อวิจัยและนวัตกรรม แต่ตอนนี้ถึงเวลาที่เราจะต้องนำคนที่เราผลิตไปปฏิบัติให้ได้ ปฏิบัติให้เป็น ปฏิบัติให้ดี นำงานวิจัยของเราไปสู่การปฏิบัติให้ได้ ให้ดี ให้จริง ให้ยิ่งใหญ่ เอานวัตกรรมไปสู่การปฏิบัติให้ได้
กระทรวง อว. ของเรามีความรู้ทุกอย่างอยู่ในตัว เรามารวมพลังกันสร้างชาติ ไม่ใช่แค่สร้างความรู้ นักศึกษา ปริญญาตามอย่างที่เราถนัด ความรู้เรามีเยอะมากแต่จัดตามต้องการของเราเอง ตอนนี้สังคมต้องการความรู้จากพวกเรามาก แต่ต้องมาจากความต้องการของเขาเอง ถ้าเราจะทำให้อว.และมหาวิทยาลัยรวมพลังสร้างชาติด้วยความรู้และปัญญา เราก็ต้องใกล้ชิดพวกเขาให้มากขึ้น เอาความต้องการของสังคม ความต้องการของประเทศ ความต้องการของภาคตะวันออกเป็นหลักเราก็จะมีพลังยิ่งขึ้น ต้องลงไปสู่การปฏิบัติให้ได้มากกว่านี้
โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัยเป็นโครงการที่ดี แต่น่าจะต้องเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยสู่ตำบลสร้างรากแก้วให้ชาติ ฝากโครงการนี้ไว้ แต่อย่าทำตามความเคยชินปกติ ต้องพยายามคิดว่าเราไปสร้างชาติด้วยความรู้ที่เรามีอยู่ เราต้องทำให้โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบลสร้างรากแก้วให้ชาติให้สำเร็จ จะต้องคิดให้ตกผลึกว่าเราไม่ได้ทำเพียงแค่ให้มหาวิทยาลัยทำเท่านั้น แต่เราเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวง อว. และเราร่วมกับทุกๆมหาวิทยาลัย เข้าไปอยู่ในแผนของ อว. ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน ซึ่งจะทำให้เราคิดได้มากขึ้นและจะปฏิบัติได้ดียิ่งขึ้น
สุดท้ายอีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะฝากไว้ คือเมื่อได้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีก็ได้เห็นขุมพลังทางความรู้ ทางสติปัญญามากมายที่อยู่ในสำนัก หน่วยงานวิจัยของเรา เวลานี้อยากให้ขุมพลังทางทางความรู้ของ อว. เหล่านั้นสอนปริญญาโท-เอกบ้าง ความรู้หลายอย่างนั้นไม่มีในมหาวิทยาลัย เช่น เทคโนโลยีนิวเคลียร์ ซึ่งมหาวิทยาลัยสามารถเปิดหลักสูตรร่วมกับสำนัก หน่วยงานได้ ให้ปริญญาที่เป็นของมหาวิทยาลัย สภามหวิทยาลัยต้องรีบทำตำแหน่งศาสตราจารย์วิจัยขึ้นมา ให้ท่านที่อยู่ในฝ่ายวิจัยมาเป็นศาสตราจารย์วิจัยโดยมีเกณฑ์ที่เทียบเท่า ท่านก็จะได้คนมาใช้ที่อยู่ในระดับโลก “มหาวิทยาลัยที่ต้องการความเป็นเลิศต้องทำเกษตร แต่จะต้องทำเกษตรแบบที่ใช้เทคโนโลยี และจะต้องคิดถึงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศด้วย ที่ดินจึงจะมีราคาที่สูงพอที่จะเก็บไว้ เราจึงจะรักษาพื้นที่สำหรับเกษตรไว้ได้ ตอนนี้เกษตรกรรมของเราขาดวิชาการ แรงงาน เราอยากจะเห็นที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ให้สามารถทำการเกษตรได้ ต้องทำเรื่องเกษตรใหม่ ต้อง reinvent agriculture มหาวิทยาลัยบูรพาน่าจะทำเรื่องนี้ด้วย ท้ายที่สุดเราต้องการเป็นความเป็นเลิศนั้นถูกต้องอยู่แล้ว แต่จะต้องเป็นความเป็นเลิศที่เป็นส่วนหนึ่งของทีม อว. และมหาวิทยาลัยรวมพลังสร้างชาติ” รมว.อว. กล่าวในช่วงท้าย.
ถ่ายภาพ : วัชรพล วงษ์ไทย
ภาพวีดีโอ : จรัส เล็กเกาะทวด
เขียนข่าว : วีนัส แก้วประเสริฐ
เผยแพร่ข่าว : ปราณี ชื่นอารมณ์ (กลุ่มภารกิจด้านอุดมศึกษา)
ส่วนสื่อสารองค์กร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2039 5609 Facebook : @opsMHESI/
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.