ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.จักษ์ พันธุ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรี ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงฯ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงฯ นำคณะผู้บริหารกระทรวงลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) พื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ณ พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต ตำบลหนองพันทา อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา และวัดถ้ำศรีชมภู ตำบลถ้ำเจริญ อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี โดยได้เข้าร่วมในกิจกรรม U2T Online Series Ep.3 ซึ่งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะในการดำเนินโครงการ U2T และเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้รับการพัฒนาจากมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังได้พบปะพูดคุยเกี่ยวการดำเนินการของโครงการ กับผู้นำชุมชน อาจารย์ผู้ดูแลโครงการ นักศึกษา ผู้ที่ได้รับการจ้างงานจากโครงการ รวมถึงประชาชนในพื้นที่
การลงพื้นที่ดังกล่าวได้รับเกียรติจากคุณสุทธิพงษ์ สุริยะ (ครูขาบ) ผู้ก่อตั้ง/ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ เจ้าของรางวัลออสการ์อาหารโลก Gourmand World Awards 14 รางวัล เป็นวิทยากรในการให้ความรู้และแลกเปลี่ยนกับชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสินค้าของชุมชน รวมทั้งการยกระดับเอกลักษณ์ ตัวตนของชุมชนให้สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนทั้งด้านสินค้าและบริการ
รมว.อว. กล่าวในตอนหนึ่งว่า ผู้เข้าร่วมโครงการ U2T มีทั้งกลุ่มของบัณฑิต นักศึกษา ผู้ที่ได้รับการจ้างงาน และประชาชนในพื้นที่ที่ได้เรียนรู้จากกันและกัน ซึ่งถือเป็นวัตถุประสงค์ที่สำคัญประการหนึ่งของ U2T คือผู้ที่ได้รับการจ้างงานจะได้เรียนรู้เรื่องชุมชน วัฒนธรรม การทำงาน ปัญหา และโอกาสของพื้นที
การศึกษาของเราที่ผ่านมาเป็นการศึกษาที่อยู่แต่ในห้องเรียน เราจำเป็นจะต้องมีความรู้ในเรื่องพื้นที่ ชุมชน ท้องถิ่นด้วย ประชาชน ชาวบ้านในพื้นที่ถือได้ว่าเป็นครูในการเรียนรู้เรื่อวท้องถิ่น ขณะเดียวกันชาวบ้านก็ได้เรียนรู้จากบัณฑิต นักศึกษา และผู้ที่ได้รับการจ้างงานด้วยเหมือนกัน มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน อยากให้ผู้ที่เข้าร่วมในโครงการนี้ได้เรียนรู้จากชาวบ้าน ปราชญ์ชุมชนให้มากที่สุด เรียนรู้จากของดีที่มีอยู่ในพื้นที่ แล้วนำกลับไปคิด ต่อยอดในบ้านของเรา ในอนาคตเราอาจจะเป็นผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ ยกระดับเป็น SME ต่อไป
มหาวิทยาลัยต้องการสถานีในการนำองค์ความรู้ที่มีอยู่มาใช้ในเกิดประโยชน์ ชุมชน พื้นที่ถือเป็นแหล่งที่ความต้องการทุกอย่างมาบรรจบกัน หากภาคประชาคม สังคมมีความเข้มแข็ง มหาวิทยาลัยเข้มแข็ง ภาคเอกชนเข้มแข็ง ประเทศไทยจะเข้มแข็งและสามารถพัฒนาไปได้ไกล มหาวิทยาลัยคือส่วนราชการที่รู้เรื่องพื้นที่มากที่สุด หากประชาคมหรือสังคมชุมชนมีความพร้อมที่จะพัฒนา พร้อมในการเป็นเจ้าภาพพัฒนาบ้านของเรา กล้าที่จะคิดใหม่ เสียสละ ทุ่มเทเพื่อบ้านของเราเอง และภาคธุรกิจเอกชนที่เก่ง ไม่จำเป็นจะต้องเป็นกิจการขนาดใหญ่ แค่เพียงกิจการขนาดเล็กภายในชุมชน แต่เป็นภาคเอกชนที่เก่งก็จะรู้จักการประกอบการ เห็นคุณค่าของสินค้า และบริการที่สามารถทำให้เกิดรายได้ ก็จะสามารถมีรายได้ที่สูงและยั่งยืนยิ่งขึ้นได้ จากการประสานมหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยเป็นที่รวบรวมองค์ความรู้ที่หลากหลาย U2T ชี้ให้เห็นเลยว่าความรู้ และทักษะจะทำให้รายได้สูงขึ้น ความรู้นั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ยังจำเป็นต้องมีทักษะ เทคนิค วิชาการในการนำความรู้นั้นมาต่อยอด อว.เป็นกระทรวงแห่งสุดยอดความรู้ เรายังมีทักษะในด้านต่างๆ อีกมากมายที่จะนำมาสอนให้กับชุมชน และผู้ที่ได้รับการจ้างงาน
“อยากให้ใช้โอกาสในการทำงานครั้งนี้ให้เต็มที่ในเวลาที่เหลืออยู่ ใช้เวลาทุกวันให้มีคุณภาพ และเป็นประโยชน์ ขอให้เป็นปีแห่งการเรียนรู้ครั้งใหญ่ของเราอีกครั้งหนึ่ง หลายสิ่งที่เราไม่ได้เรียนในมหาวิทยาลัยก็จะได้เรียนรู้ใน 1 ปีของการปฏิบัติงานในโครงการ U2T” รมว.อว. กล่าวในตอนท้าย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.