22 มีนาคม 2564 : ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ต่องานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม” ในงานประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติด้านศิลปะและวัฒนธรรม ประจำปี 2564 เครือข่ายศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 11 “วิถีศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย” ณ อาคารเรียนรวมและศูนย์วัฒนธรรม (พุทธวิชชาลัย) มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
รมว.อว.กล่าวว่า การพัฒนาประเทศต้องขับเคลื่อนในหลายๆด้าน ด้านหนึ่งคือในทางธุรกิจ การค้าการลงทุนระหว่างประเทศ อีกด้านคือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถ้ามีแต่ด้านแรกแต่ขาดวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ก็จะมีการค้าหรือลงทุนแต่ของที่มูลค่าเพิ่มไม่สูงมากนัก เป็นประเทศที่ติดอยู่ในกับดักประเทศด้อยพัฒนา หรือดีที่สุดคือติดอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลาง แต่จะไม่ขยับขึ้นไปเป็นประเทศรายได้ขั้นสูง หรือประเทศที่พัฒนาแล้ว วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงมีความจำเป็นเพราะเหตุนี้กระทรวง อว. มีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากกว่าที่เราทั่วไปรู้ คนไทยโดยเฉพาะรัฐบาลไทยต้องพยายามช่วยกันใช้ของไทย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่คนไทยประดิษฐ์อาจจะไม่สวย อาจจะยังไม่พร้อมแต่พวกเราต้องพร้อมที่จะซื้อ ฝากมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งขับเคลื่อนแนวทางนี้ในการใช้ของไทยให้มากที่สุด การขับเคลื่อนในด้านที่สามคือ ด้านศิลปวัฒนธรรม ทุนทางวัฒนธรรม เราจะต้องทำเรื่องทุนทางวัฒนธรรม โดยการคิดให้เป็นยุทธศาสตร์ มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน และต้องทำให้ได้
อยากเชิญชวนให้ชาวราชภัฏสนใจใน “ธัชชา” หรือ วิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรม ที่เพิ่งจะก่อตั้งเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งประกอบไปด้วย 5 สถาบันในเวลานี้ สถาบันแรกคือสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง โดยตั้งเป้าให้สถาบันว่าต้องทำวิจัยเพื่อจะให้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นโมเดลระดับโลก เน้นเรื่องการวิจัยจากสิ่งที่คนอื่นทำแล้วนำมาสรุปเป็นทฤษฎี เป็นทฤษฎีแบบที่เราไม่ได้ลอกใคร ถึงเวลาที่เราจะต้องสร้างทฤษฎีไทยของเราขึ้นมาให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทฤษฎีภูมิภาค ทฤษฎีของประเทศ ทฤษฎีของพื้นที่ เป็นเรื่องที่สำคัญที่สถาบันเศรษฐกิจพอเพียงต้องทำขึ้นมาให้ได้ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียงที่ตั้งใจเอยากให้ทำคือต้องทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของเราขึ้นสู่ระดับทฤษฎีที่เป็นที่รับรู้ของคนทั้งโลกให้ได้ สถาบันโลกคดี มีความตั้งใจว่าภายใน 5-10 ปี จะต้องทำให้ประเทศไทยเป็นตัวแบบหนึ่งของการอยู่ในโลกอย่างมีศักดิ์ศรี มีอิสระและประสบความสำเร็จในระดับโลก ทำให้ประเทศไทยมีภาพที่ดีในสายตาของโลก โลกคดีต้องเผยแพร่สิ่งดีๆ ของไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น ประเทศไทยไม่ได้มีแต่ศิลป์แห่งชาติ ศิลป์ของท้องถิ่นถ้าจับให้ถูกจะโยงไปถึงศิลปะยุคแบบฉบับ หรือยุคคลาสสิค เช่น ศิลป์ของนครปฐมคือศิลป์ของทวารวดี ศิลป์ของอีสานคือศิลป์ของเขมรและมอญ เมื่อเราไปศึกษาศิลป์ท้องถิ่นเราจะพบศิลป์ยุคแบบฉบับ ทวารวดี ศรีวิชัย หริกุญชัย ขอม คนที่ทำศิลป์ท้องถิ่นได้ดีจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้เรื่องที่กว้างขวางด้วย จะต้องมีทฤษฎี ความรู้ แต่จะต้องส่งเสริมการปฏิบัติ ทำอย่างไรให้เด็กไทยปฏิบัติได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทิ้งทฤษฎี ทฤษฎีต้องสอนให้ดีขึ้นในเวลาที่น้อยลง สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปะ เรามีงานศิลปะแห่งชาติจำนวนมาก แต่ไม่เคยนำมาแสดงยกเว้นเวลามีนิทรรศการ จะทำอย่างไรให้สามารถนำศิลปะร่วมสมัยที่ผลิตมาแสดง มีของที่ทำจำลองขาย สร้างให้ศิลปะคือชีวิต ชีวิตคือศิลปะ และสุดท้ายสถาบันสุวรรณภูมิ เรื่องสุวรรณภูมิปรากฏในเอกสารของอินเดีย เปอร์เซีย โรมัน จีน ที่เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ร่วมสมัยซึ่งพูดถึงดินแดนแถบที่อยู่ระหว่างอินเดียและจีน ส่วนใหญ่เป็นหมู่เกาะหรือคาบสมุทร บางที่เรียกสุวรรณทวีปบางที่เรียกสุวรรณภูมิ เมื่อมีวิจัยเชิงประวัติศาสตร์มีการค้นพบโบราณวัตถุ โบราณสถาน พบว่าประวัติศาสตร์เราสามารถย้อนไปได้จนถึงยุคทวารวดี ศรีวิชัย ขอม โบราณคดีย้อนไปได้จนถึงสุวรรณภูมิ เราจะภูมิใจในชาติของเรา ว่าเราอยู่ในบริเวณดินแดนที่มีอารยธรรมมาร่วมยุคร่วมสมัยกับอารยธรรมจีน อินเดีย โรมัน กรีก
จากการหารือกับนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏ เราจะเชิญคนของราชภัฏ มาคุยกับกระทรวง อว. ซึ่งรับผิดชอบธัชชา จะนำมหาวิทยาลัยราชภัฏเข้าไปในสถาบันทั้ง 5 โดยอาจจะเป็นกิจกรรม หรือโครงการที่ หรือหากหารือกันแล้วน่าจะมีเรื่องราวที่เป็นพิเศษสำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏโดยเฉพาะก็สามารถทำได้ หวังว่าการบรรยายนี้จะเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนพัฒนาด้านที่สามให้กับประเทศ ถ้าเราทำได้การท่องเที่ยว งานทางศิลปะ จะไปได้ดี ชาวต่างประเทศที่มาเมืองไทยจะไม่ได้สัมผัสแค่ไทยแลนด์ แต่สัมผัสไปถึงสุวรรณภูมิ ทวารวดี ศรีวิชัย อีกทั้งยังจะมีพิพิธภัณฑ์ที่สามารถสร้างได้อีกจำนวนมากเพื่อแสดงความเป็นท้องถิ่น ที่สะท้อนอารยธรรมคลาสสิคของไทย” รมว.อว. กล่าวในตอนท้าย
เขียนข่าว : วีนัส แก้วประเสริฐ
ถ่ายภาพ : อินทิรา บัวลอย
เผยแพร่ข่าว : ปราณี ชื่นอารมณ์
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง สป.อว.
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2610 5241-47 Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.