28 มีนาคม 2564 ณ จังหวัดเชียงใหม่ เวลาประมาณ 09.30 น. / ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เดินทางไปยังตำบลเวียงท่ากาน อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่ดังกล่าว และตรวจเยี่ยม "การขับเคลื่อนพื้นที่พหุด้วยประชาคมวัฒนธรรม เพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ภายใต้โครงการ “การสร้างย่านเศรษฐกิจด้วยทุนทางวัฒนธรรมชุมชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่”
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวว่า วันนี้ผมมีแต่ความดีใจ ความเบิกบานใจ รู้สึกว่าของเก่าที่มีค่าของพวกเรา 1,300 ปี ซึ่งเก่ามากกว่าเมืองเชียงใหม่ โยงไปถึงชาวไทยยอง หรือ ไทยยื้อ ซึ่งสมัยก่อนไม่มีชายแดน จึงเป็นคนไทย คนเมือง คนล้านนา ซึ่งมาอยู่รวมกันเป็นไทยน้อย ซึ่งเรารักษามาได้ 1,300 ปีเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก แต่จะใหญ่มากขึ้น เมื่อเราทำให้ประวัติศาสตร์ 1,300 ปี กลายเป็นผลิตภัณฑ์ กลายเป็นอาหาร ดนตรี ผ้าโบราณ เครื่องแต่งกาย ที่ฟื้นขึ้นมาเพื่อรับใช้ปัจจุบันให้ได้ อันนี้จะทำให้เราภูมิใจ ว่าเรามีชาติ มีเชื้อ มีตระกูล รวมทั้งมีความหลากหลายของชาติพันธุ์ไทย มาอยู่ที่สันปาตองได้ ต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ให้เป็นมูลค่า ทาง อว. จะช่วยกันคิด ช่วยกันส่งเสริมที่จะทำอย่างไรให้ที่นี้เติบโต และเป็นประโยชน์ให้แก่ลูกหลานต่อไป
หลังจากนั้น เวลา 13.30 น. ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. เดินทางไปยังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมโครงการวิจัย “การอบรมเพื่อเพิ่มสมรรถนะด้านการออกแบบสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการหัตถกรรมพื้นเมืองสำหรับตลาดในยุค New Normal”
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า วันนี้ผมใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงใหม่ ตั้งแต่เมื่อช่วงเช้าก็ไปสันปาตอง เวียงท่ากาน รู้สึกตื่นเต้นที่ได้เจอคนยอง ผมอ่านหนังสือเกี่ยวกับคนยองมาพอสมควร แต่จริงๆแล้ว แม่เป็นคนยองเช่นกัน ผมได้มาเจอชาวยองกับชาวเขิน ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของเวียงท่ากาน ซึ่งยังใช้ภาษาเขินภาษายอง แต่ที่ตื่นเต้นกว่านั้น คือ มีคนมอญซึ่งอยู่มานานมากกว่า 1,300 ปี ซึ่งเวียงท่ากาน มีหลากหลายชาติพันธุ์ที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่สุด ผมก็ฝากคณาจารย์ และ มทร.ล้านนา ที่ทำเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้ดูแลคนในพื้นที่ให้ดีเป็นพิเศษ ซึ่งเราจะเห็นประวัติศาสตร์ของล้านนา เพียงเวียงท่ากานก็มากกว่า 1,500 ปีแล้ว
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวต่อไปว่า ผมรู้สึกว่าการมาที่ มทร.ล้านนา ซึ่งมีกิจกรรมที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมล้านนาที่สง่างาม เพลงโบราณ ดนตรี การฟ้อนเล็บ ที่ยังสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ ที่มีการผสมผสานกับวัฒนธรรมตะวันตก เรามีความร่ำรวยทางด้านดนตรี ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งคนธรรมดายังมองไม่เห็น ตัวอย่างเห็นได้จากเวียงท่ากานสรุปรวบยอดทุกอย่างไว้ภายในที่เดียว ชาวบ้านมีความรักสมัครสมาน ปรับตัวเข้าหากัน เปิดกว้างและมีไมตรีจิต ความเป็นท้องถิ่นไม่ได้แปลว่าเป็นส่วนย่อยของประเทศ แต่สำหรับผมเชื่อว่า มันไม่เป็นเพียงส่วนย่อย บางทีใหญ่กว่าชาติ ภูมิใจกว่าชาติ ซึ่งศิลปะท้องถิ่นจะสะท้อนถึงอารยธรรม ซึ่งทำให้มันมีคุณภาพสูงได้และเป็นศิลปะที่สมบูรณ์ได้ เราไม่ควรยึดแต่ทฤษฎี ควรปฏิบัติด้วย ทั้งสองอย่างต้องควบคู่กันไป โครงการ koyori project 20221 สะท้อนให้เห็นถึงอุตสาหกรรมญี่ปุ่นที่เกิดจากความเป็นเลิศของหัตถกรรมของญี่ปุ่น ความเป็นเลิศมันไม่ทิ้งไปไหน เมื่อเอาหัตถกรรมเดิมมาทำสินค้าและบริการ ก็จะเป็นที่ต้องการของคนทั้งโลก การที่เรานำเอาทฤษฎีของญี่ปุ่นมายกระดับหัตถศิลป์ของประเทศเรา ก็สามารถพัฒนาได้ดียิ่งขึ้น ความเข้มแข็งของวัฒนธรรมไทย คือ การรวบรวมเอาวัฒนธรรมประจำท้องถิ่นมาเสริมกับวัฒนธรรมของชาติ ซี่งจะนำไปสู่ประเทศไทยหลังโควิดที่เดินด้วยเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์
“ด้วยเราเน้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อว. จึงมีบทบาทในการพัฒนาประเทศ ซึ่งเราจะเอาออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ให้ได้มากที่สุด สำหรับกระทรวง อว. เราเน้นวิจัยและพัฒนา ซึ่งเราจะนำเอาความรู้ทักษะ ทฤษฎีและความเป็นเลิศที่สะสมมาออกมาใช้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ปัจจุบันเชียงใหม่เป็นมหานคร ที่รวบรวมประชาชนที่ไม่ใช่เพียงชาติพันธุ์แต่รวบรวมประชาชนจากต่างชาติมารวมกันที่เชียงใหม่ที่เป็นจังหวัดที่ยังไม่ตายและสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ชาติได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นเราควรอนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีงามเอาไว้ ซึ่งเราควรรู้จักอดีต เพื่อจัดการปัจจุบัน อันนำไปสู่อนาคต ซึ่งจะทำให้เชียงใหม่เจริญเติบโตไปเรื่อย ๆ” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าว
ข่าวโดย : นายปวีณ ควรแย้ม
ถ่ายภาพ : นายสกล นุ่นงาม
ถ่ายภาพวีดิโอ : นายกรภัทร์ จิตต์จำนงค์
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.