29 มีนาคม 2564 ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ เวลา 10.00 น. /ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "นโยบายของ อว. สู่ทิศทางของมหาวิทยาลัย ในการพลิกโฉมอุดมศึกษา และการพัฒนาเกษตรไทย" พร้อมเดินทางไปรับชมแปลงกัญชาที่มีการปลูกในระบบ Smart Farm จำนวน 12,000 ต้น และปลูกในระบบ outdoor 4,700 ต้น จากหลากหลายสายพันธุ์ เพื่อนำมาวิจัยและใช้ประโยชน์ในการแพทย์
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกที่มามหาวิทยาลัยแม่โจ้ รู้สึกภูมิใจและดีใจที่ได้มา ผมเป็นคนลำปาง ชื่อแม่โจ้เป็นชื่อที่คุ้นหูกับผมและกับคนทั้งประเทศ ที่ผ่านมา 2-3 วันหลังจากผมมาเชียงใหม่ สิ่งที่สัมผัสได้ คือ จังหวัดเชียงใหม่เปรียบเสมือนหัวใจของคนเมืองเหนือ เชียงใหม่เป็นมหานครที่มีทุนทางศิลปวัฒนธรรมที่ลึกซึ้งมาก และเก่าแก่ไม่เคยล่มไม่เคยแตกสลายมากกว่า 700 ปี ทุนทางวัฒนธรรม หมู่บ้านคนเมือง หลากหลายชาติพันธุ์ ทำให้เห็นประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่ที่มีมาอย่างยาวนาน
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวต่อไปว่า ม.แม่โจ้เป็นของคนเชียงใหม่ เป็นมรดก เป็นวัฒนธรรมที่ล้ำค่า ถึงแม้ว่า รูปแบบทางการจะเป็นมหาวิทยาลัยของ อว. ก็ตาม ม.แม่โจ้เป็นมหาวิทยาลัยที่เริ่มมาจากเกษตรและปัจจุบันก็ยังไม่ทิ้งเกษตร และอยากให้เชิดชูเกษตรและจริงจังให้มากขึ้น ซึ่งมาถูกทางแล้วที่ยังคงเอาไว้ซึ่งเกษตร ตรงตามจุดประสงค์เดิมของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเฉพาะทาง มหาวิทยาลัยในด้านหนึ่งนั้นเป็นกรมของ อว. อีกด้านหนึ่งเป็นความภูมิใจของภาค เป็นกำลังของภาค เป็นศักยภาพของภาค สิ่งที่ผมจะเติมให้ ม.แม่โจ้ คือ อยากให้ทุกคนมีความรู้สึกที่ว่า ม.แม่โจ้ เป็นมหาวิทยาลัยของเชียงใหม่ แม่โจ้จะเพิ่มศักยภาพอย่างไรให้คนในพื้นที่ได้บ้าง รวมทั้ง ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและความเจริญของเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในระดับ 1-2% ซึ่งปีหน้าท่านนายกจะพยายามทำให้ได้ 4% ภาคเกษตรเป็นส่วนที่สำคัญมาก ซึ่งอยู่ใน BCG ที่ทางรัฐบาลกำลังเร่งผลักดัน ม.แม่โจ้ จะเป็นกำลังที่สำคัญที่สุดของ BCG และจะทำให้คนในภาคการเกษตร มีความกินดี อยู่ดี มีความสุขและนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาการเกษตรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เวลาประมาณ 14.00 น. ของวันเดียวกัน ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เดินทางไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นประธานในการประชุม "การประชุมพิจารณาให้การรับรองแปลงเกษตรอินทรีย์ตามมาตราฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (SDGs PGS) " และ "การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพหุภาคี "วาระเกษตรอินทรีย์เชียงใหม่-การขับเคลื่อนจังหวัดเชียงใหม่สู่เมืองหลวงเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทยและเป็นศูนย์กลางการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์แห่งเอเชีย"" และมอบเกียรติบัตรใบรับรองแปลงเกษตรอินทรีย์ตามมาตราฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (SDGs PGS) ให้แก่เกษตรกรไทย
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า ผมดีใจมากที่ทุกท่านกำลังทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ ซึ่งทำให้เกิดอาหารปลอดภัย สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตดี แต่ที่ดีที่สุดคือเกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งภายหลังเหตุการณ์โควิดผ่านไป เชียงใหม่ที่เป็นเกษตรอินทรีย์ในยุคที่รัฐกำลังทำเรื่อง BCG จะเจริญเติบโตอย่างมาก เศรษฐกิจจะเจริญรุ่งเรือง และมีมูลค่าสูง เกิดการหมุนเวียนและปรับเปลี่ยนของเสียให้กลายเป็นของดี นอกจากนี้เกษตรอินทรีย์ย่อมได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นพิเศษ การทำให้เชียงใหม่กลายเป็นเมืองหลวงของการทำเกษตรอินทรีย์ เป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ และผมสนับสนุนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเชียงใหม่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ เรามีมหาวิทยาลัยหลากหลายที่ดีของประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งทางด้านทั่วไปและเฉพาะด้าน เชียงใหม่มีสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ตั้งอยู่ที่แม่ริม มีหอดูดาวที่ดีที่สุดของประเทศ การที่เชียงใหม่จะทำเกษตรอินทรีย์ให้กลายเป็นที่ดีที่สุดในประเทศไทย อว. พร้อมสนับสนุนและเชื่อฝีมือชาวเชียงใหม่ และขอฝากความหวังไว้กับพวกเราและขอให้มีแปลงเกษตรที่ได้รับการรับรองมากยิ่งขึ้นไปอีก
ข่าวโดย : นายปวีณ ควรแย้ม
ถ่ายภาพ : นายสกล นุ่นงาม
ถ่ายภาพวีดิโอ : นายกรภัทร์ จิตต์จำนงค์
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.