ครม.รับทราบ อว.จ้างงาน U2T ได้ถึง 95.4 เปอร์เซ็นต์หรือกว่า 5.7 หมื่นคน คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ สภาพัฒน์ เสนอ พร้อมจัดทำข้อมูลตำบลได้สมบูรณ์แล้ว 2,898 ตำบลจาก 3 พันตำบลหรือ 96.60 เปอร์เซ็นต์ เกิด 9,679 โครงการยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ทั้งโอท็อป ท่องเที่ยว สุขภาพ เงินหมุนเวียนในชุมชนกว่า 700 ล้านบาทต่อเดือน
เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้รายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้โดยได้หยิบยกรายงานผลการดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการหรือโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย (U2T) ระยะ 3 เดือน (ก.พ. - เม.ย.2564) ของ อว.ให้ ครม.พิจารณา โดยผลการดำเนินงานของโครงการ U2T ณ วันที่ 3 เม.ย.2564 ปรากฏว่า สามารถจ้างงานได้ทั้งสิ้น จำนวน 57,264 คน คิดเป็นร้อยละ 95.4 เปอร์เซ็นต์ของเป้าหมาย
รมว.อว. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ครม.ยังได้รับทราบผลการดำเนินการของผู้ได้รับการจ้างงานโครงการ U2T ว่าได้มีการข้อมูลชุมชน ข้อมูลตำบลได้สมบูรณ์แล้ว 2,898 ตำบลหรือคิดเป็นร้อยละ 96.60 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดและได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่ากว่าร้อยละ 45.8 เป็นตำบลที่มีศักยภาพมุ่งสู่ความยั่งยืนและความพอเพียง ขณะที่กว่าร้อยละ 50.8 เป็นตำบลที่พอจะอยู่รอดจากความยากลำบากและยังอยู่ในภาวะลำบาก นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจความพร้อมในการเฝ้าระวังโควิด - 19 และโรคระบาดใหม่ พบว่าในภาพรวมทั้งประเทศ มีการตระหนักรู้และเฝ้าระวังโรคโควิด-19 มากกว่าร้อยละ 86 และที่สำคัญ ได้มีการจัดเก็บข้อมูล 2 ส่วน คือ ข้อมูลที่มีอยู่เดิมจากฐานข้อมูลหน่วยงานและข้อมูลจัดเก็บเพิ่มเติมผ่าน U2T แอปพลิเคชัน ซึ่งได้มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นในการจัดเก็บข้อมูลเรียบร้อยแล้วและได้มีการทดสอบระบบและการจัดเก็บข้อมูลในบางตำบลไปบ้างแล้วและได้เริ่มมีการจัดเก็บข้อมูลจริงในเดือน มิ.ย.เป็นต้นไป และ กลุ่มข้อมูลชุมชนที่จัดเก็บผ่านแอพพลิเคชั่น U2T ได้แก่ 1.ข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น พืช สัตว์ เห็ด รา เป็นต้น 2.ข้อมูลความหลากหลายทางวัฒนธรรม เช่น ข้อมูลพื้นที่ท่องเที่ยว อาหารประจำถิ่น ภาษา และกลุ่มอาชีพเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นต้น
ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ผู้ได้รับการจ้างงานยังได้รับการพัฒนาทักษะใน 4 ด้านในช่วงเดือน ก.พ. - เม.ย.ที่ผ่านมาจากสถาบันพัฒนาบุคลากรภาครัฐด้านดิจิทัล โครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติและสถาบัน Change Fusion ผ่านหลักสูตรอี-เลิร์นนิง ด้านการเงิน จำนวน 10,299 คนหรือ 17.7 เปอร์เซ็นต์ ด้านดิจิทัล จำนวน 4,920 คนหรือ 8.2 เปอร์เซ็นต์ ด้านภาษาอังกฤษ จำนวน 3,701 คนหรือ 6.2 เปอร์เซ็นต์และด้านสังคม จำนวน 1,236 คนหรือ 2.1 เปอร์เซ็นต์
“ผู้ได้รับการจ้างงานโครงการ U2T มีการยกระดับเศรษฐกิจในภาพรวมผ่านการดำเนินกิจกรรมรายตำบล 3 พันตำบลทั้งสิ้น 9,679 โครงการ อาทิ การพัฒนาสัมมาชีพใหม่และสร้างอาชีพใหม่ อาทิ ยกระดับสินค้าโอท็อป และอาชีพอื่นๆ จำนวน 2,730 โครงการ การสร้างและพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น การยกระดับการท่องเที่ยว จำนวน 2,047 โครงการ การนำองค์ความรู้ไปช่วยบริการชุมชน เช่น เรื่องสุขภาพ เทคโนโลยีด้านต่างๆ จำนวน 2,422 โครงการ การส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมและด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน อาทิ การเพิ่มรายได้หนุมนเวียนให้แก่ชุมชน จำนวน 2,318 โครงการ เป็นต้น โดยผลลัพธ์ที่ได้รับจากการดำเนินโครงการที่ผ่านมา คือ มีเงินหมุนเวียนในชุมชนไม่น้อยกว่าเดือนละ 700 ล้านบาทต่อเดือน มีการจ้างงงานคนในพื้นที่มากกว่า 5.3 แสนคนและทั้งหมดเป็นคนในพื้นที่” รมว.อว.กล่าวและว่า ทั้งนี้ คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ให้ อว.ไปดำเนินการในระยะต่อไป ประกอบด้วย 1.เร่งให้มีการจ้างงานในพื้นที่ให้ครบถ้วนตามที่กำหนด 2.เร่งพัฒนาทักษะผู้ได้รับการจ้างให้ครบทุกหลักสูตรและ 3.ให้จัดทำรายงานผลการดำเนินงานของโครงการ U2T รวม 9,679 โครงการเพื่อเชื่อมโยงกับการจัดทำข้อมูลตำบลเพื่อแก้ปัญหาต่อไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.