“เอนก” เปิดโครงการ "อว. พารอด" ระดม “ของดีและคนดี”
เป็นกองหนุนฟันฝ่าวิกฤตโควิด ดึงจิตอาสา – อาสาสมัครช่วยผู้ป่วยพร้อมส่งยาสมุนไพรและอุปกรณ์ที่จำเป็น
นำร่อง รพ.กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ฯ ขณะที่สภาอุตสาหกรรมฯ ร่วมด้วยช่วยกัน มอบ 50 ห้องความดันลบให้สถานพยาบาล 26 ก.ค.นี้
ด้านประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 บริจาคระบบบริหารจัดการผู้ป่วยรอเตียง ที่พัฒนาโดยบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด
เมื่อวันที่ 24 กรกฏาคม 2564 : ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ในสถานการณ์ที่มียอดผู้ป่วยโควิดและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก อว.พร้อมทำหน้าที่เป็นกองหนุนสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบในภาวะวิกฤต ทั้งการลดค่าเล่าเรียนสำหรับนิสิตและนักศึกษามหาวิทยาลัยร้อยะ 50 ในภาคเรียนที่ 1/2564 นี้ และการสนับสนุนพื้นที่ของสถาบันอุดมศึกษาในการเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังร่วมสนับสนุนกระทรวงกลาโหมในการเปิดโรงพยาบาลสนาม และห้อง ICU รวมทั้งระบบการส่งต่อผู้ป่วย และการสนับสนุนสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลและกระทรวงสาธารณสุขในการให้ข้อมูลเตียงว่างในโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศ และสนับสนุนทีมปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุก หรือ Comprehensive Covid-19 Response Team (CCRT) ผ่านกลไกการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่และประชาชนทั่วไปภายใต้โครงการ U2T ที่สามารถจ้างเพิ่มได้อีกประมาณ 4,000 อัตรา เพื่อนำบุคลากรมาช่วยสนับสนุนงานในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
รมว.อว. กล่าวต่อว่า ในสัปดาห์หน้า อว. เตรียมเปิดตัวโครงการ "อว. พารอด" เป็นการรวมจิตอาสาและอาสาสมัคร ซึ่งอาจรวมถึงผู้ป่วยโควิดที่หายดีแล้ว มาร่วมโทรศัพท์ให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยที่อยู่ใน Home Isolation และ Community Isolation ซึ่งการให้กำลังใจนี้ เป็นสิ่งที่เสริมจากการติดต่อตามปกติเพื่อสอบถามอาการประจำวันของบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งจะมีการส่ง "กล่อง อว. พารอด" ที่มียาสมุนไพรและอุปกรณ์ที่จำเป็นเพิ่มเติมจากที่โรงพยาบาลมีให้ โดยจะเริ่มนำร่องกับผู้ป่วยที่อยู่ในการดูแลของโรงพยาบาลในเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) ภายใต้ อว. โครงการนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการรวมพลังของทุกภาคส่วนของ อว. เพื่อให้กำลังใจและสร้างความมั่นใจว่าประเทศไทยจะผ่านพ้นวิกฤตโควิดไปได้อย่างแน่นอน
ดร.เอนก กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น ตนยังได้รับรายงานว่าสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ระดมทุนเพื่อสร้างระบบห้องความดันลบ ซึ่งใช้แบบพิมพ์เขียวที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน หน่วยงานภายใต้ อว. โดยมีแผนการสร้างเครื่อง High Flow ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเบื้องต้น สามารถระดมทุนสร้างระบบได้ถึง 50 ห้อง ซึ่งตามสถิติแล้ว หากสถานพยาบาลมีห้องความดันลบเพิ่มขึ้นหนึ่งห้อง จะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยโควิดได้ไม่น้อยกว่า 5 คนต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ จะมีการส่งมอบห้องความดันลบห้องแรกจากการระดมทุนนี้ในวันที่ 26 กรกฏาคมนี้
“ที่สำคัญ ยังได้รับการติดต่อจากนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 แสดงความจำนงในการบริจาคระบบบริหารจัดการผู้ป่วยรอเตียง ซึ่งสามารถปรับเป็นระบบบริหารจัดการผู้ป่วย Home Isolation ที่พัฒนาโดยบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเป็นส่วนสนับสนุนให้ประเทศไทยรอดพ้นวิกฤตโควิดไปได้ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นตัวอย่างของความพยายามและการร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วนเพื่อช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นจากวิกฤตโควิดในครั้งนี้ให้ได้” รมว.อว. กล่าวในตอนท้าย
ข้อมูลข่าว : สุตานนท์ อาวจำปา
เผยแพร่ข่าว : ปราณี ชื่นอารมณ์
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง สป.อว.
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2610 5241-47 Call Center โทร.1313
Facebook : @MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.