(24 กรกฎาคม 2564) ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน อนาคตของประเทศไทย : ในมุมมองของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม” ในโครงการ Thailand Youth Policy Initiative (TYPI) เวทีประกวดนโยบายและนวัตกรรมทางสังคมของคนรุ่นใหม่เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ PM 2.5 ผ่านระบบ zoom online ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศไทยมานานหลายทศวรรษ ซึ่งนับวันก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตามด้วยธรรมชาติของปัญหาที่มีแหลงกำเนิดมาจากหลายแหล่ง ปัญหาดังกล่าวจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยมาตการแก้ไขที่หลากหลายด้วย นอกจากนี้เพื่อเป็นการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชนในกระบวนการการจัดทำนโยบายสาธารณะ และเสริมสร้างแนวการจัดทำนโยบายที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation) ที่จะสร้างความยั่งยืนให้แก่นโยบายสาธารณะในอนาคต
ดังนั้น โครงการ Thailand Youth Policy Initiative (TYPI) จึงเป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อตอบสนองแนวคิดดังกล่าว โดยเป็นการอาศัยความร่วมมือกันระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาพันธ์นิสิตนักศึกษานานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand) เพื่อรวบรวมกลุ่มเยาวชนที่มีความสนใจแก้ไขปัญหาดังกล่าวทั่วประเทศกว่า 30 ทีม ให้เข้ามานำเสนอแนวคิดในรูปแบบของนโยบายสาธารณะ โดยนโยบายสาธารณะที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จะถูกนำไปเสนอ ณ งานสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นด้านฝุ่น PM 2.5 และจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะต่อไป
ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับทั้ง 30 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกจากทั้งหมด 129 ทีม เชื่อว่าจะได้นโยบายสาธารณะที่ช่วยแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ออกมาจากโครงการนี้ โครงการนี้ทำให้เห็นว่านโยบายสาธารณะดี ๆ นั้น ไม่จำเป็นต้องเกิดจากการคิดของนักวางแผนและผู้กำหนดนโยบายของหน่วยราชการเท่านั้น แต่อาจจะมาจากการช่วยกันคิดของกลุ่มคนในหลาย ๆ วัย ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญต่างสาขากัน ที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่งคือความตั้งใจในการจัดกิจกรรมลักษณะนี้ขึ้น ก็ขอให้กำลังใจและขอให้ทำต่อไปในหัวข้อที่สำคัญอื่น ๆ ยกตัวอย่างว่า นโยบายสาธารณะในเรื่องที่เกี่ยวกับ PM 2.5 จะต้องทราบว่า PM 2.5 จำนวนหนึ่งมาจากเขตชนบทซึ่งอยู่ใกล้กับป่า หรืออยู่ใกล้กับชายแดนซึ่งติดกับป่าของประเทศเพื่อนบ้านเราจึงต้องทราบว่าเกษตรกรทั้งไทยเราและเกษตรกรเพื่อนบ้าน เผาป่ามานานแล้ว จนเป็นวิถีชีวิต ทั้งเผาเพื่อเตรียมการสำหรับการทำเกษตรในปีต่อไป หรือเพื่อที่จะให้เห็ดป่าออกมาได้ดี เพื่อหาเลี้ยงชีพ ดังนั้นเราต้องคำนึงว่าเราแก้ปัญหาเรื่องการเผาป่าได้ แต่ว่าทำยังไงที่จะให้เกษตรกรเหล่านั้นยังสามารถเข้าไปหาเลี้ยงชีพตนเองได้อยู่ เป็นต้น
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.