(5 สิงหาคม 2564) ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “โอกาสการพัฒนาเมืองลำปางสู่เมืองยั่งยืน” ในกิจกรรม Talk Online ลำปางเมืองน่าอยู่สร้างสรรค์ ชุดโครงการวิจัย “กลไกการพัฒนาลำปางเมืองน่าอยู่สร้างสรรค์” จัดโดย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผ่านโปรแกรม ZOOM ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นคนลำปาง คนล้านนา ยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นประธานเปิดโครงการวิจัยกลไกการพัฒนาลำปางเมืองน่าอยู่สร้างสรรค์ จังหวัดลำปางเป็นจังหวัดที่สำคัญของภาคเหนือตอนบน ถือเป็นศูนย์กลางคมนาคมสัญจร เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจมากที่มีการทำวิจัยเรื่องจังหวัดลำปาง และเป็นเรื่องที่ดีที่มีคนจากเชียงใหม่ จากสถาบันวิจัยสังคม มช. และมีทีมจากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษานอกที่ จ.ลำปาง สนใจมาทำเรื่องนี้ การที่มีคนอื่นมาศึกษาเรื่องเมืองของเราเป็นเรื่องที่ดี เพราะการที่เราอยู่ในพื้นที่ไม่ใช่ว่าเราจะรู้จักไปหมดทุกเรื่อง อาจจะรู้ในเรื่องที่เป็นความรู้พื้นฐาน แต่ยังมีความรู้ที่มาจากการอ่านภาษาโบราณ ซึ่งคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) รู้เรื่องประวัติศาสตร์มากที่สุดของภาคเหนือตอนบนทั้งหมด ลำปางเป็นเมืองโบราณมากอายุเท่ากับลำพูน มีมาก่อนที่จะมีเชียงใหม่ ลำปางเก่ากว่าประเทศไทย 1,300 ปี และลำปางเป็นเมืองที่สำคัญมาก เป็นต้นกำเนิดของล้านนารอบที่ 3 รอบที่ 1 คือ รัฐอิสระของมังราย 200 ปี รอบที่ 2 ก็เป็นเมืองขึ้นของพม่าอีก 200 ปี ส่วนรอบที่ 3 สามารถแยกตัวออกจากพม่าได้เด็ดขาด และรอบที่ 4 สยามผนวกล้านนาเข้าไปเป็นมลฑล ลำปางถือเป็นต้นกำเนิดของล้านนาทั้งหมด
“ผมยินดีและสนับสนุนการทำวิจัยในครั้งนี้เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในบ้านเกิด เป็นเกียรติเป็นศักดิ์ศรี ต้องอาศัยนักวิจัยทั้งหลายมาช่วยกันศึกษาวิจัย” ขอให้การทำงานประสบความสำเร็จ ของดีต้องทำให้เร็ว และทำไปเรื่อย ๆ ไม่รู้จบ นอกจากนั้น งานต้องได้มาตรฐาน ต้องมีใจรักในสิ่งที่ตนวิจัย ช่วงนี้เป็นช่วงโควิดก็ขอให้ระมัดระวังตัวด้วย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.