(2 กันยายน 2564) ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานเปิดงานพร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวขอ “University Engagement ที่หมายถึง การนำผลงานรับใช้สังคม มากำหนดตำแหน่งทางวิชาการ” ในการประชุมวิชาการประจำปี The 7th Engagement Thailand Annual Conference “Innovation-engaged Society” ผ่านระบบ Zoom ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า แต่ก่อนความสนใจที่จะทำเรื่อง University Engagement กับสังคม ไม่ว่าจะเป็นชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด ภาค ยังไม่มาก ถือว่าท่านอาจารย์วิจิตร ศรีสอ้านกับคณะที่ทำเรื่อง Engagement ระหว่างมหาวิทยาลัยกับสังคมก็เป็นผู้บุกเบิก เป็นผู้ก้าวไปข้างหน้าก่อนคนอื่น ๆ มาจนถึงบัดนี้ คิดว่า มหาวิทยาลัยทำ Engage กับสังคมขึ้นเยอะ เพราะเห็นความจำเป็นและความสำคัญที่จะต้องทำมากขึ้น กระทรวง อว. ตั้งแต่เข้ามาว่าการก็เห็นความสำคัญที่จะต้องให้มหาวิทยาลัยออกจากหอคอยงาช้าง เป็นวลีแรก ๆ ที่พูดกับชาวอุดมศึกษาว่า อยากที่จะเห็นมหาวิทยาลัยออกจากหอคอยงาช้าง เรื่องของวิชาการ วิจัย นวัตกรรมบางอย่างก็ต้องทำในหอคอยงาช้าง แต่ว่าผลจากการวิจัย การค้นคว้านวัตกรรม ก็ต้องรีบนำออกจากหอคอยงาช้างไปช่วยสังคมที่แวดล้อมเรา หรือบางครั้งเราก็ต้องพักงานสอน งานวิจัย งานนวัตกรรมของเราที่ทำในหอคอยงาช้างลงไปบ้างแล้วแต่สถานการณ์ เพื่อที่จะไปช่วยสังคมข้างนอก
เราได้ทำตามผู้ที่ริเริ่มเรื่อง University Engagement ไปพอสมควร เช่น กรณี U2T ที่ทำ 76 มหาวิทยาลัยไปช่วย 76 จังหวัด ลงไปจนถึง 3,000 ตำบล นำบัณฑิต นักศึกษาไปทำงานร่วมกับชาวบ้าน รวมแล้ว 60,000 คน เป็นการ Engagement มหาวิทยาลัยทั้งระบบ ตั้งแต่อธิการบดีลงไปจนถึงอาจารย์ นักศึกษา แล้วก็ Engage กับสังคม คือ ระดับตำบล แต่ก็สามารถขยายขึ้นมาเป็นระดับอำเภอ ระดับจังหวัดได้ สุดแท้แต่หลักสูตร สุดแท้แต่โครงการ เราได้ทำการสอนอบรม ให้การศึกษาแก่คณาจารย์ นักศึกษาให้เห็นความสำคัญของชุมชน พื้นที่ ท้องถิ่น ความรู้ไม่ได้มีแต่ที่เป็นสาขาวิชาเท่านั้น ความรู้ที่สำคัญอีก คือ ความรู้ที่เป็นภูมิวัฒนธรรม ภูมิสังคม ภูมิประวัติศาสตร์ เป็นต้น ชี้ให้เห็นว่าแนวความคิดเรื่อง University Engagement ใช้ได้จริง
ตอนที่เกิดโควิดตั้งแต่ต้นมาจนถึงตอนนี้ แต่ละระลอกมหาวิทยาลัยก็ Engage ต่อสังคมมากขึ้น เป็นระบบ เช่น มหาวิทยาลัยที่มีโรงเรียนแพทย์ ก็ไปช่วยในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยหนัก ซึ่งโรงพยาบาลของเราส่วนใหญ่ก็จะเป็นโรงเรียนแพทย์ที่ดีที่สุดของภาค ของประเทศ ต่อมาเราใช้มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ รวมไปถึงมหาวิทยาลัยที่ไม่มีโรงเรียนแพทย์ ไม่มีคณะพยาบาล ไม่มีคณะสาธารณสุข เปิดโรงพยาบาลสนาม มีคนเข้าไปรักษาตัว เข้าไปพักคอย มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งรวมน้ำใจของสังคม เป็นแหล่งที่ทำให้เกิดการบูรณาการ การ Engage จะทำให้เราได้เห็นจุดแข็งของมหาวิทยาลัยขึ้นเรื่อย ๆ ได้เห็นว่ามหาวิทยาลัยทำได้มากกว่าการสอน การวิจัย การทำนวัตกรรม “ผมได้ตระหนักว่าสังคมมีการยอมรับ ให้ความนับถือมหาวิทยาลัยมาก คนที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลหลักในกรณีโรงเรียนแพทย์ หรือว่า โรงพยาบาลสนามของมหาวิทยาลัยหลายสิบแห่งทั่วประเทศ เมื่อเขามาอยู่กับ อว. แล้ว เขาอบอุ่น ชาวมหาวิทยาลัยมีความตั้งใจดีต่อสังคม”
นอกจากนั้นทำอย่างไรที่จะไปเสริมคณะ University Engagement ได้ริเริ่มทำกันมา ได้มีการเสนอและเป็นที่ยอมรับแล้วในที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (กพอ.) ได้มีการเพิ่มเติมเกณฑ์ในการกำหนดตำแหน่งศาสตราจารย์, รองศาสตราจารย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ เพิ่มเติมขึ้นมา โดยไม่ต้องอาศัยตำรา หรืองานวิจัย ตำราและงานวิจัยยังสำคัญ แต่จะเพิ่มอีก 5 ด้านที่ไม่ต้องใช้ตำรางานวิจัย ได้แก่ (1) ด้านการรับใช้ท้องถิ่นและสังคม (2) ด้านสุนทรียะและศิลปะ (3) ด้านการสอน (4) ด้านนวัตกรรม และ (5) ด้านศาสนา
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.