(2 กันยายน 2564) ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานมอบนโยบายการดำเนินงานของภาคีความร่วมมืออวกาศไทยแก่ คณะกรรมการบริหารภาคีความร่วมมืออวกาศไทย ผ่านระบบ Zoom ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา 12 หน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. ได้ลงนาม MOU ในด้านการศึกษา วิจัยและพัฒนานวัตกรรม เกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศไทย ผมมีความยินดีอย่างยิ่ง ที่มีการจัดประชุมคณะกรรมการบริหารภาคีความร่วมมืออวกาศไทยครั้งแรก หลังจากพิธีลงนาม MOU แม้ว่าจะเป็นการประชุม on-line ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย Thai Space Consortium ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า TSC เป็นความพยายามที่จะร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภายในประเทศ จากหน่วยวิจัยและพัฒนา และจากมหาวิทยาลัย รวมถึงเอกชนที่จะดึงเข้ามาร่วมในอนาคต ผมขอชื่นชมในความพยายามอันนี้ และกล้าที่จะท้าทายที่จะทำในสิ่งที่ยากแต่มีความสำคัญ มีประโยชน์อันยิ่งใหญ่ต่อการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นดาวเทียม TSC-1 สำหรับสำรวจโลก หรือ ดาวเทียม TSC-2 สำหรับสำรวจดวงจันทร์ ในอีกประมาณ 7 ปีข้างหน้า ความท้าท้ายนี้เป็นความท้าท้ายสำหรับพวกเราทุกคน ทุกคนต้องทำแบบคิดถึงประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งแต่ละท่านล้วนทำอยู่แล้ว ก็ขอย้ำเตือนว่าต้องให้มีมากขึ้น
งานนี้เป็น Symbolic ไม่ใช่เพียงแค่การส่งดาวเทียมไปโคจรรอบดวงจันทร์ แต่เป็นงานพิเศษเหมือนกรณีที่อเมริกาตั้งเป้าจะไปโคจรรอบดวงจันทร์ก่อนโซเวียต เราเป็นนักวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องสร้างภาพสร้างความมั่นใจให้คนไทยเห็นศักยภาพของประเทศและมั่นใจในความสามารถของคนไทยและนักวิทยาศาสตร์ไทย เราต้องทำให้คนไทยเห็นว่าคนไทย และนักวิทยาศาสตร์ไทยเป็นคนเก่ง งานต่างๆ ของกระทรวง อว. ล้วนสำคัญทั้งสิ้น ทั้งเรื่องวัคซีน และ เรื่อง U2T แต่อะไรที่จะทำให้คนเห็นความสามารถของนักวิทยาศาสตร์ไทย ผลงานอันนี้ถ้าสำเร็จมา จะเป็นความสำเร็จของทุกคนที่ร่วมกันทำ consortium กระจายเครดิตให้ทุกคน ที่ผมให้ความสำคัญในเรื่องนี้เพราะเห็นว่าพวกเราตั้งใจ และเก่งกว่าที่ผมคิด ผมไม่ได้เป็นคนทำ แต่ได้เห็นทุกท่านทำกันและทำได้ดี จึงน่าจะเป็นข่าวดีสำหรับคนทั่วไป
“ผมขอย้ำว่าพวกเราอย่าทำไปเรื่อยๆ เพราะจะทำให้เราเป็นประเทศด้อยพัฒนาไปเรื่อยๆ นั่นเป็นเพราะเราไม่มีจุดมุ่งหมายอย่างชัดเจน เราต้องมี super indicator มีหมุดหมายที่ชัดเจน เราต้องทำให้ประเทศไทยดีดตัวเองออกจากกับดักการเป็นประเทศกำลังพัฒนาให้ได้”
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.