เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 : ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำทีมผู้บริหาร อว. ลงพื้นที่เยี่ยมชมและรับฟังผลการดำเนินงานโครงการ U2T ในความดูแลของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
ทั้งนี้ ดร.ดนุช ได้ให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะในการดำเนินการในพื้นที่แก่คณาจารย์ผู้ดูแลโครงการใน 4 ประเด็นหลัก ว่า ประเด็นแรก คือ มหาวิทยาลัยควรจัดทำคู่มือ ที่ได้จากการทำงานในพื้นที่เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน ต่อยอดการปฏิบัติงานโครงการต่อในปีที่ 2 เนื่องจากความใกล้เคียงของพื้นที่ทำให้มีสภาพสังคม วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ ที่คล้ายคลึงกัน มหาวิทยาลัยจะทราบถึงข้อดี ข้อเสีย ปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้นในตำบลปฏิบัติการเพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการดำเนินงานในตำบลเป้าหมายใหม่ ทำให้ง่ายต่อการพัฒนามากยิ่งขึ้น ประเด็นที่สองคือ ความยั่งยืน สิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาพื้นที่คือความยั่งยืน ถึงแม้ว่าโครงการนี้จะสิ้นสุดไปแล้ว หากเราสามารถสร้างให้เกิดความยั่งยืนได้ หรือมีบุคลากรที่สามารถทำงานในพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะดีต่อคนในพื้นที่เอง
ดร.ดนุช กล่าวต่อว่า ประเด็นที่สามคือ การดูแลผู้สูงวัย ใน 1 ปีที่ผ่านมา อว. ช่วยให้ผู้ได้รับการจ้างงานค้นพบอาชีพใหม่ จากตำบลที่เขาอยู่ มีธุรกิจ ได้ทดลองทำ มีรายได้ ซึ่งคนที่ทำนั้นก็คือญาติพี่น้องของเขา นี่คือความสำเร็จในเรื่องรายได้ เรามีความรู้ เราได้ลงมือทำ และเราก็ยังมีรายได้ด้วย ชีวิตก็จะต่อเนื่องต่อไป อว.มีส่วนในการส่งเขาไปในงานที่เหมาะสมไม่ต้องเข้าไปในเมือง อยู่ในตำบล ได้ดูแลพ่อแม่ โดยเฉพาะในอนาคตเราจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างแน่นอน การทำให้ผู้สูงวัยในแต่ละตำบลมีชีวิตที่ดีขึ้น สนุกขึ้น มีความสุขขึ้น การดูแลทั้งในเรื่องอาหาร สุขภาพ รายได้ จะเป็นโจทย์ที่สำคัญมาก ประเด็นสุดท้ายคือ การลดรายจ่าย หากคนในพื้นที่มีความพอประมาณแล้ว ถ้าโครงการนี้สามารถช่วยให้เขาลดรายจ่ายได้ด้วย ก็จะเห็นผลได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม โครงการก็จะสามารถก้าวต่อไปในปีที่สองได้อย่างแน่นอน
“ประเด็นเหล่านี้คือภาระหน้าที่ของคณาจารย์ และมหาวิทยาลัยที่ดูแลพื้นที่ เรามาตรวจเยี่ยมเพื่อรับฟัง รับทราบปัญหา อาจารย์จะต้องสะท้อนภาพกลับมาให้ อว.ได้รับทราบ เพื่อจะได้ช่วยกันดำเนินการแก้ไข เพื่อนำไปสู่โจทย์ใหญ่นั่นคือการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ในอนาคต” ผู้ช่วย รมว. กล่าว
เขียนข่าว : วีนัส แก้วประเสริฐ
ถ่ายภาพ : อินทิรา บัวลอย
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2610 5241-47 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailan
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.