“ดร.เอนก” ปลื้ม หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ไทย ได้รับรองจาก ABET ครั้งแรกของประเทศ
มั่นใจ คือก้าวสำคัญของการอุดมศึกษาไทยสู่ระดับโลกโดย Subject Ranking ด้านวิศวกรรมศาสตร์
"แนะ" วิศวกรไทยต้องมีจุดขาย พร้อมพาความเป็นไทยก้าวไกลสู่ระดับสากล
10 มกราคม 2565 : ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในการประชุมวิชาการเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีในการขอรับรองมาตรฐานคุณภาพหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์จาก ABET พร้อมกล่าวแสดงปาฐกถาพิเศษ “อุดมศึกษาไทยในเวทีโลก” และร่วมแสดงความยินดีแก่สถาบันอุดมศึกษานำร่อง 4 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่ได้ผ่านการขอรับรองมาตรฐานคุณภาพหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์จาก Accreditation Board for Engineering and Technology (ABET) ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพของสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ที่ทำการประเมินและให้การรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆจาก 41 ประเทศทั่วโลก โดยมี 6 ประเทศในอาเซียนที่มีสถาบันอุดมศึกษาได้รับการรับรองจาก ABET เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับรอง และจะมีการรับรองผลอย่างเป็นทางการอีกครั้งในเดือนสิงหาคม 2565 งานดังกล่าวจัดขึ้น ณ โรงแรมหัวช้าง เฮอริเทจ กรุงเทพฯ
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก ได้กล่าวว่า นโยบายของ อว. ในการผลักดันและส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยระดับโลก ได้มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะสาขาวิชา Subject Ranking ที่ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญโดดเด่นและมีศักยภาพในหลายสาขาวิชา และนับเป็นข่าวดีที่วันนี้ประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้รับการรับรองจาก ABET รวมทั้งสิ้น 9 หลักสูตร การที่หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ของไทยได้รับการรับรองจากองค์กรระดับนานาชาติ จะช่วยตอกย้ำว่าวิศวกรของไทยมีความรู้ความสามารถ และมีสมรรถนะในการทำงานตรงต่อความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมทั้งข้อกำหนดในการประกอบวิชาชีพระดับสากล เป็นที่ยอมรับและสามารถเคลื่อนย้ายไปทำงานได้ในทุกประเทศทั่วโลก นับเป็นก้าวที่สำคัญในการส่งเสริมมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยระดับโลกโดย Subject Ranking ด้านวิศวกรรมศาสตร์ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและผู้ประกอบการว่าประเทศไทยมีวิศวกรที่มีความรู้ความสามารถและความเป็นไทยแบบชัดเจน สามารถทำงานทัดเทียมกับวิศวกรต่างชาติได้อย่างดีเยี่ยม
รมว.อว. กล่าวต่อไปว่า หลักสูตรที่ได้รับการรับรองจาก ABET ที่เป็นองค์กรรับรองคุณภาพระดับนานาชาติจะสร้างความเชื่อมั่นให้นักศึกษาต่างชาติให้เข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทยเพิ่มขึ้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักศึกษาไทยสามารถเดินทางไปแลกเปลี่ยนและศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาระดับโลกได้สะดวกขึ้น ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 ที่มีความเป็นพลเมืองโลก (Global Citizenship) และมีสมรรถนะในการทำงานตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้งข้อกำหนดในการประกอบวิชาชีพระดับสากล เป็นที่ยอมรับและสามารถเคลื่อนย้ายไปทำงานได้ในทุกประเทศทั่วโลก ต้องขอขอบคุณคณาจารย์จากสมาคมนักวิชาชีพไทยในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา หรือ ATPAC ที่ได้ให้คำปรึกษาและคำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่สถาบันอุดมศึกษาไทย ตลอดจนผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา และอาจารย์ทุกท่านที่ช่วยขับเคลื่อนโครงการ ทำให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จ เป็นที่น่าชื่นชม และเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่มหาวิทยาลัยแห่งอื่นต่อไป
“ขณะนี้โลกเราอยู่ในสถานการณ์ของยุค Disruption จากความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี การถูกกระตุ้นด้วยปัญหาและความท้าทายหลายด้านทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ทั้งการเผชิญกับโรคอุบัติใหม่ การแพร่ระบาดของ COVID-19 การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร อันส่งผลกระทบต่อภาคการศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาคมอุดมศึกษาต้องปรับบทบาทอย่างก้าวกระโดด ขับเคลื่อนให้อุดมศึกษาไทยก้าวไปสู่เวทีโลกในแบบฉบับของความเป็นไทยสู่สากล พัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถบุคลากรในระบบอุดมศึกษา เพื่อตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสังคมและประเทศอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ตนขอขอบคุณทุกองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ร่วมมือกันทำให้สถาบันอุดมศึกษานำร่อง 4 แห่ง ได้รับการรับรองจาก ABET ในครั้งนี้ และเชื่อว่า ก้าวเล็กๆ ของทุกท่านในวันนี้ จะเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ในการผลักดันมหาวิทยาลัยไทยไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก ต่อไปในอนาคต และขอส่งกำลังใจให้กับมหาวิทยาลัยแห่งอื่นที่กำลังจะเริ่มเข้าร่วมโครงการในปี 2565” ดร.เอนก กล่าวในตอนท้าย
เขียนข่าว : วัชรพล วงษ์ไทย
ถ่ายภาพ : สกล นุ่นงาม
วีดีโอ : จรัส เล็กเกาะทวด
เผยแพร่ข่าว : ปราณี ชื่นอารมณ์
กลุ่มสื่อสารองค์กร สป.อว.
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2610 5241-47 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.