วันที่ 9 มีนาคม 2565 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงาน ธัชชากับการพัฒนาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศไทย "การสร้างมูลค่า โดยบูรณาการทุกศาสตร์และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนไทย" พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง " 1 ปีธัชชา กับการ ขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ครั้งสำคัญของประเทศ" โดยมี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว., รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวง อว., ดร.พัชรินรุจา จันทโรนานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว., ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง อว., คณะผู้บริหารกระทรวง อว. และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมงาน ณ ห้องโถง ชั้น 1 อาคารอุดมศึกษา 2 กระทรวง อว.
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า ขอเเสดงความยินดีที่พวกเราทำงานกันมาได้กว่า 1 ปีเต็ม ธัชชา 1 ปีในวันนี้ทำให้พวกเราได้เรียนรู้เเละได้คิดเห็นถึงบ้านเมืองของเรา ประวัติ อดีต เเละโบราณคดี ถ้าย้อนกลับไปในอดีตเราไม่ได้เริ่มต้นด้วยการเป็นชาติ เราเริ่มต้นด้วยการเป็นบ้านเล็กเมืองน้อย เริ่มจากการเป็นรัฐเล็กๆ ไม่ใช่เป็นราชอาณาจักรเเบบสุโขทัย เเบบล้านนา หรือเเบบอยุธยา มีการทำเกษตรกรรม มีหัตถกรรม เเละอุตสาหกรรม แต่ประเทศไทยไม่มีอุตสาหกรรมหลัก เพราะไม่มีเหมืองเเร่ เหล็ก ฉะนั้นไทยทำได้เเต่อุตสาหกรรมเบา และมีศิลปกรรม สุนทรียะ มีอารายะ ช่วงโลกาภิวัตน์ เราเริ่มมีการค้ากับระบบโลก โดยเชื่อมเอเชียกับยุโรปไว้ มีเศรษฐกิจพอเพียง คนไทยส่วนใหญ่เป็นชาวนา ชาวไร่ทำเกษตรกรรม นอกจากนั้นเราทำเรื่องของสุนทรียะ ศิลปะ อารยะ ด้วย อันนี้เป็นจุดที่ควรจะคิดมากเกี่ยวการพัฒนากำลังของประเทศ ถ้ามองแต่ด้านเกษตรกรรมว่าเป็นคนที่ต้องเพิ่มเติม และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะคิดถึงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในมิติที่ใหม่ขึ้น โดยมาผูกเข้ากับเรื่องเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์
สำหรับการฟื้นฟูศิลปกรรมแห่งชาติ ซึ่งเป็นงานของศิลปกรรมแห่งชาติ ต้องมองอย่างใกล้ชิดกับช่างศิลป์ ธัชชาต้องเอาเพาะช่างมาทำงานให้มากขึ้น เอาเพาะช่างมาเป็นส่วนหนึ่งของธัชชาให้ได้ รวมทั้งมหาวิทยาลัย คณะศิลปกรรมทั้งหลายของประเทศควรจะทำงานร่วมกันให้มากขึ้นด้วย
ด้าน รศ.ดร.พาสิทธิ์ กล่าวรายงานว่า วิทยสถาน "ธัชชา" จัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 และได้ดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศ เพื่อนำไปสู่การสร้างคุณค่าและผลประโยชน์ ทางเศรษฐกิจและสังคมของชาติ มาเป็นเวลา 1 ปี เต็ม
ธัชชามีภารกิจและบทบาทหน้าที่สำคัญ ดังนี้
1) เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิชาการและการวิจัยสาขาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ ตลอดจนการบูรณาการองค์ความรู้กับด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
2) พัฒนางานวิจัยใหม่ๆ เพื่อสร้างองค์ความรู้และหาคำตอบที่คำอธิบายเพิ่มเติมในประเด็นที่น่าสนใจ
3) ส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรเพื่อสืบสานและต่อยอดทักษะฝีมือที่หายาก
4) สร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรม
ธัชชาทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายกว่า 40 หน่วยงาน
1. ในการขยายฐานความรู้ด้าน สุวรรณภูมิศึกษา
2. มุ่งพัฒนาและต่อยอด ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
3. สร้างบทเรียนจากโลกคดี ที่เชื่อมไทยเชื่อมโลก
4. ทำให้เกิดการบริโภคสุนทรียะศิลปะของไทย และ
5. สืบสานศิลปะพื้นถิ่นไทย ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา
วันนี้ถือเป็นการแถลงผลการดำเนินงานของธัชชาครบรอบ 1 ปี ธัชชากับภาคีเครือข่ายได้ทำโครงการที่สำเร็จไปแล้วและกำลังดำเนินการอยู่กว่า 70 โครงการ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดยวันนี้ ได้มีการจัดเสวนา 5 สถาบัน ในหัวข้อ "การบูรณาการข้ามศาสตร์ ต่อยอดองค์ความรู้ สู่การสร้างคุณค่าและสร้างรายได้ พร้อมทั้งเสวนาวิชาการนานาชาติในหัวข้อ "จากต้นทุนทางวัฒนธรรมเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ"
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.