อว. จัดตั้ง “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences : TAS) เชื่อมโยงเครือข่ายนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และมหาวิทยาลัย สร้างคลังสมองของประเทศ เพิ่ม Ranking มหาวิทยาลัย อัพเกรดวิจัยและนวัตกรรม ผลิตบัณฑิตสมรรถนะสูงในสาขาจำเป็น มุ่งเป้าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2580
6 พ.ค. 2565 : ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิด “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences : TAS) เพื่อให้เป็นศูนย์กลาง (Hub) ในการเชื่อมโยงเครือข่ายนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยมาทำงานร่วมกัน และใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ งานดังกล่าวจัดขึ้น ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สป.อว. (ถนนโยธี)
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. กล่าวว่า ความก้าวหน้าของการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดนับเป็นกุญแจสำคัญต่อการพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพราะโลกปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูงขึ้น จึงมีนโยบายให้จัดตั้งวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences : TAS) หรือเรียกว่า “ธัชวิทย์” คู่ไปกับวิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย “ธัชชา” ซึ่งได้ก่อตั้งเพื่อทำให้คนไทยเห็นคุณค่าเรื่องราวในอดีต ศึกษา วิจัยและพัฒนาด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดีและวัฒนธรรม ยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศเพื่อกระจายสู่สายตาประชาคมโลก ส่วน “ธัชวิทย์” จะเป็นเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงเครือข่ายนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยมาทำงานร่วมกัน รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอยู่ เพื่อสร้างประเทศให้มีฐานวิทยาศาสตร์ที่ดี ฐานการพัฒนาคนไทยให้ได้ดี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก โดยให้มีรูปแบบการดำเนินงานใน 3 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 การสร้างเครือข่ายคลังสมองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ (Frontline Think Tank) มิติที่ 2 กลุ่มริเริ่มงานวิจัยชั้นนำ (Frontier Science Alliances) และมิติที่ 3 ผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีศักยภาพสูงเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก (Future Graduates Platform) เป้าหมายสำคัญคือการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งต้องอุดมไปด้วยสรรพวิทยาและศาสตร์ในทุกๆ แขนงเป็นส่วนประกอบ และกระทรวง อว. คือสถานที่รวบรวมสิ่งเหล่านั้นไว้มากมาย ทั้งด้านการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพสูง “ธัชวิทย์” จะเป็นศูนย์กลางของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยเพื่อรวบรวมและใช้อย่างสร้างสรรค์ กระทรวง อว. จะเป็นกระทรวงที่พัฒนาแล้วในปี 2570 และจะพาประเทศไทยก้าวสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2580 ได้อย่างแน่นอน ตนมั่นใจ...
ด้าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า “ธัชวิทย์” หรือ “TAS” ต้องเป็นที่พึ่งได้ของประเทศ ให้คำตอบได้ในเรื่องสำคัญแก่ประเทศได้ เป็นคำตอบทางปัญญาของประเทศ ที่มีความถูกต้อง แม่นยำและรวดเร็ว และต้องทำให้อันดับของมหาวิทยาลัยไทยดีขึ้น โดยการ repackage งานวิจัยที่มีอยู่ และ new package เลือกเรื่องที่ดีที่สุดและสิ่งที่ดีที่สุด ให้มีผลงานออกมาหลากหลายและมีคุณภาพสู่การไต่อันดับที่สูงขึ้น มุ่งสร้างผลงาน contribute และพุ่งเป้าในโจทย์ที่ประเทศกำลังให้ความสำคัญ สร้างองค์ความรู้ใหม่ สิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่ม Ranking มหาวิทยาลัยของไทยได้อย่างแน่นอน และที่สำคัญเรื่องการผลิตกำลังคนระดับสูงแบบมุ่งเป้าของประเทศ โดยการใช้สถาบันวิจัยที่มีเครื่องมือดีมากๆ ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยที่มีบุคลากรคุณภาพสูงจำนวนมากแต่ขาดเครื่องมืองานวิจัยระดับสูง “ธัชวิทย์” จะเป็นกลไกที่ทำให้สถาบันวิจัยทำหน้าที่ผลิตกำลังคนได้เป็น Academic Institution เสมือนเป็นบัณฑิตวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่มอบปริญญาบัตรได้ เพื่อสร้างทรัพยากรบุคคลสมรรถนะสูงในสาขาที่มีความสำคัญเร่งด่วนของประเทศ เป็นบัณฑิตที่จบแล้วมีงานทำทันที หรือทำกิจการของตนเองก็ได้ มีคุณสมบัติโดดเด่นเป็นที่ยอมรับ “ธัชวิทย์” จะทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศ หน่วยงานด้านนโยบาย และหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัย ตลอดจนเครือข่ายต่างๆในต่างประเทศอย่างมุ่งมั่นและตั้งใจ เพื่อประเทศก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอนาคต
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.