เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง แผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนระดับภูมิภาค พ.ศ. 2566 – 2570 มี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. นายธวัชชัย เศรษฐจินดา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นางเบญจมาศ สมบูรณ์รองประธานสายงานส่งเสริมและสนับสนุนสภาอุตสาหกรรมจังหวัด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้บริหาร อว. คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เข้าร่วมที่สำนักงานปลัด อว.
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า สมรรถนะของภาคเอกชนไทยวันนี้สูงขึ้นมาก เป็นผู้ริเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นการพัฒนาในภูมิภาคหรือเชิงพื้นที่ได้เอง เชื่อมโยงธุรกิจกับเศรษฐกิจให้เป็นเรื่องเดียวกัน การทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนระดับภูมิภาคฉบับนี้เป็นคุณูปการต่อเศรษฐกิจไทย และยังเป็นการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างมุ่งเป้า เอาพื้นที่เป็นที่ตั้ง โดยภาคเอกชนเลือก อว. เป็นพันธมิตร มีมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยในพื้นที่ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเป็นขุมกำลัง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยนั้นเป็นหน่วยงานที่อยู่ติดพื้นที่และมีความใกล้ชิดเข้าใจพื้นที่มากที่สุด กว่า 2 ปีที่ผ่านมาที่ตนอยู่ในตำแหน่ง รมว.อว. ได้มีนโยบายในการทำงานที่เน้นพื้นที่มากมาย โดยเฉพาะการประกาศให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งพัฒนาเชิงพื้นที่และมักจะเป็นหน่วยปฏิบัติการ “อว.ส่วนหน้า” ที่ทำงานใกล้ชิดกับจังหวัดเพื่อร่วมพัฒนาพื้นที่และท้องถิ่นในทุกมิติ ตนเชื่อมั่นว่ามหาวิทยาลัยนี้จะกลายเป็นกองกำลังสำคัญในการทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนระดับภูมิภาคฉบับนี้
รมว.อว.กล่าวต่อว่า เรื่องที่ตนอยากให้เกิดขึ้นในแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนฯ นี้ คือ การพัฒนากำลังคนในพื้นที่อย่างมุ่งเป้า อาศัยคนในพื้นที่เป็นคนช่วยทำอย่างแข็งขัน เอาการศึกษาและวิจัยเข้าไปเสริม เพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้ภูมิภาคอย่างจริงจัง กระจายความเจริญและความรู้เพื่อสร้างคนของพื้นที่เป็นการเฉพาะให้ได้ ตนหวังว่าแผนฉบับนี้จะตอบโจทย์อัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ มุ่งพัฒนาจุดเด่นจุดแข็งที่แตกต่างของแต่ละภาคแต่ละจังหวัด เพื่อยกระดับท้องถิ่น ลดช่องว่างและสร้างให้คนในพื้นที่มีความภูมิใจในภูมิภาคและท้องถิ่นของตน
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า อว. ร่วมกับ กกร.กำหนดพื้นที่เป้าหมายเพื่อจัดทำแผนนำร่องสำหรับภาคเอกชนนำไปใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งระดับภาค ระดับกลุ่มจังหวัด และระดับจังหวัด จำนวน 17 แผน มีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน และจะขยายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศภายใน 2 ปี ซึ่งในส่วนของ อว. จะมีอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาครับผิดชอบแผนพัฒนาระดับภาคและกลุ่มจังหวัด และ อว.ส่วนหน้า รับผิดชอบแผนระดับจังหวัด ทั้งนี้ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะรับผิดชอบการจัดทำแผนในภาพรวมทั้งหมด ร่วมกับ สำนักงานปลัด อว. และภาคเอกชน ซึ่งขณะนี้ได้จัดทำคู่มือการจัดทำแผนและต้นแบบแผนพัฒนาในพื้นที่เศรษฐกิจภาคเอกชนระดับภูมิภาค พ.ศ.2566 – 2570 เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานไว้เรียบร้อยแล้ว โดยหลังจากนี้จะเดินหน้าจัดประชุมระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อยร่วมกับคณะกรรมการ กกร. ในระดับภูมิภาค จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการวิพากษ์แผนทั้ง 17 แผน โดยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ได้แสดงความคิดเห็น เพื่อให้ได้แผนที่มีประสิทธิภาพ ตรงตามความต้องการ สามารถนำไปใช้ได้จริงและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
ด้าน นายธวัชชัย กล่าวว่า การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนระดับภูมิภาคครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายสำคัญที่ภาคเอกชนจะได้ใช้แผนดังกล่าวเป็นแนวทางในการวางแผนและเสนอโครงการในการขับเคลื่อนและแก้ไขบัญหาเศรษฐกิจของพื้นที่ โดยผ่านกลไกในทุกระดับ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค ซึ่งแผนนี้ได้ดำเนินการตามแนวทางที่ รมว.อว. ได้ให้หลักการไว้ว่าจะต้องเริ่มคิดจากจุดแข็งของพื้นที่ เลือกบางเรื่องคิดจากจุดที่ว่าจะต้องสร้างอะไรขึ้นมาก่อน ทำให้สำเร็จขึ้นมาเรื่องหนึ่งให้เป็น Quick Win Project แล้วจะเกิดผลสะเทือนเป็นลูกโซ่ไปทำให้จุดอื่นๆ แก้ไขปัญหาได้ด้วย
นางเบญจมาศ สมบูรณ์ รองประธานสายงานส่งเสริมและสนับสนุนสภาอุตสาหกรรมจังหวัด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า “แนวทางการจัดทำแผนจะมุ่งเน้นสะท้อนความต้องการของพื้นที่ (Customer Need/Pain Point) และสอดคล้องตามทิศทางการพัฒนาพื้นที่ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นสำคัญ ทั้งนี้ ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนระดับภูมิภาค โดยมีผู้แทนจาก กกร. ร่วมเป็นคณะทำงาน ในการกำหนดนโยบายการจัดทำแผนฯ ระดับภูมิภาค เพื่อกำกับ ดูแล และติดตามการดำเนินงานการจัดทำ พร้อมร่วมพิจารณาให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะในการจัดทำแผนฯ โดย กกร. จะให้การสนับสนุนข้อมูลด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ และบุคลากรในการให้ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เพื่อร่วมจัดทำแผนฯ ในครั้งนี้”
ส่วนนายกิตติพัฒน์ เพียรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เสนอมุมมองจากสถาบันการเงินว่า “ความยั่งยืนคือเป้าหมายสำคัญ โดยการทำแผนจะต้องมีการปรับโฉม ไม่ได้เก็บบนหิ้ง แต่จะต้องนำมาปฏิบัติ การทำแผนต้องมองไปข้างหน้า มองธุรกิจใหม่ๆ หรือแนวทางใหม่ ๆ ที่ไม่อยู่ในกรอบตลอดเวลา มีความยืดหยุ่นโดยไม่ผิดระเบียบ แต่ไม่ได้ทำให้งานล่าช้า นอกจากนี้ สถาบันการเงินจะให้ความสำคัญ 4 เรื่องหลัก ได้แก่
1. ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยใช้เทคโนโลยี
2. สร้างความเป็นผู้นำ
3. ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
4. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สร้างคน สร้าง Talent เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง รองรับกระแส Disrupt
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.