รมช.วิทยาศาสตร์ฯ จีน นำทีมใหญ่ร่วมหารือปลัดกระทรวง อว. ขยายผลความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างทั้งสองประเทศ หลัง อว. จัดทีมเยือนจีน พร้อมข่าวดี จีนจ้บมือไทยสร้างยานสำรวจใหม่เดินทางไปพร้อมยานฉางเอ๋อ-7
เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้การต้อนรับ ดร. จาง กว่างจวิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และคณะ ในโอกาสเยือนประเทศไทย พร้อมเป็นประธานร่วมการประชุมใหญ่คณะกรรมการความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย-สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อขยายผลความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของทั้งสองประเทศ กระชับความสัมพันธ์ให้แนบแฟ้นยิ่งขึ้น โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากทั้งสองประเทศเข้าร่วม ที่โรงแรมรอยัลออคิดเชอราตัน กรุงเทพฯ
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า "การที่รัฐมนตรีจาง กว่างจวิน มาเยือนประเทศไทยพร้อมคณะจำนวนกว่า 30 คนในครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการที่ อว. ได้นำผู้บริหารและนักวิจัยของกระทรวง อว. ไปเยือนจีนในโอกาสแรกที่จีนเปิดประเทศตั้งแต่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการหารือและได้ข้อสรุปที่เห็นชอบร่วมกัน เกิดความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการเจรจาเชิงนโยบายระดับสูงโดยมีผู้บริหารในระดับรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงเป็นหัวหน้าคณะ สามารถกำหนดประเด็นความร่วมมือและขับเคลื่อนโครงการได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งการมาเยือนไทยของ รมช.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนและคณะในระหว่างวันที่ 20 – 22 ก.ย. นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายผลการดำเนินความร่วมมือระหว่างสองประเทศเพิ่มเติมอีก และหารือแนวทางการขยายความร่วมมือในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน พร้อมเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการของสองประเทศได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ เพื่อกระชับความร่วมมือและความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมถึงเพิ่มโอกาสในการสร้างเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาและเร่งการเติบโตของธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ในสาขาเป้าหมาย โดยผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ"
“ผลการหารือจากการประชุมคณะกรรมการร่วมฯ ของทั้งสองประเทศในครั้งนี้ ได้ข้อสรุปว่าจะมีการดำเนินการร่วมกันใน 5 เรื่อง ได้แก่ 1.การแลกเปลี่ยนและพัฒนานักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ โดยให้ทุนสนับสนุนการศึกษาวิจัยระหว่างประเทศ 2.การถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน 3.การขจัดความยากจนแบบบูรณาการโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นกลไกสำคัญ 4.ความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง และ 5.การขยายผลความร่วมมือทางด้านพลังงานสะอาด โดยเฉพาะเทคโนโลยีโทคาแมค ซึ่งทั้ง 5 เรื่องนี้ กระทรวง อว.ของไทยและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน จะร่วมกันทำงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด”
"และมีข่าวดีว่าหลังจากที่เราได้ไปเยือนจีนและหารือความร่วมมือกับวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีนซึ่งได้ตอบรับข้อริเริ่มของไทย โดยในวันนี้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. ในสังกัดของกระทรวง อว. ได้รายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการฯ ว่าจีนตกลงยินดีที่จะร่วมพัฒนาและสร้างยานสำรวจอวกาศร่วมกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โดยจะนำขึ้นไปกับยานอวกาศฉางเอ๋อ-7 ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากจีนแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะลงนามบันทึกความร่วมมืออย่างเป็นทางการในสัปดาห์หน้านี้ ซึ่ง รมช. จีนแจ้งว่าถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญมาก" ปลัดกระทรวง อว. กล่าว
ด้าน ดร.จาง กว่างจวิน รมช.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน กล่าวว่า "ขอชื่นชมกระทรวง อว. กับบทบาทการทำงานขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับนานาชาติ และขอขอบคุณที่ อว. ได้เดินทางไปเยือนจีนในโอกาสแรกหลังจากเปิดประเทศ แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญและความพร้อมที่จะร่วมมือกันทางวิชาการในทุกแขนงระหว่างสองประเทศ โดยหลังโควิดยิ่งเร่งให้เกิดกิจกรรมระหว่างทั้งสองประเทศอย่างก้าวกระโดด ซึ่งปลัดกระทรวง อว.ได้ดูแลติดตามความร่วมมืออย่างใกล้ชิด กำหนดประเด็นความร่วมมืออย่างชัดเจนและมีความก้าวหน้ารวดเร็วมาก รู้สึกประทับใจอย่างยิ่ง การหารือในระดับสูงของคณะกรรมการความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย-สาธารณรัฐประชาชนจีนในครั้งนี้ประสบความสำเร็จมาก กระทรวงวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีของจีนพร้อมที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกันในทุกมิติ เพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศต่อไป"
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.